tororichclub

tororichclub

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

เลิกใช้ชีวิตติด “เค็ม”...



        วิถีชีวิตอันเร่งรีบของผู้คนในสังคมปัจจุบัน ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมเมืองหรือกึ่งสังคมเมือง ทำให้วิถีการบริโภคต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่นิยมทำอาหารรับประทานเองภายในบ้าน ก็กลายเป็นการซื้ออาหารนอกบ้าน อาหารปรุงสำเร็จมากยิ่งขึ้น

       จากการสำรวจของกรมอนามัยถึงแบบแผนการบริโภคของประชากรทั่วไป อายุ 15-54 ปี เขตกรุงเทพมหานคร ปี 2547 พบว่า กลุ่มตัวอย่างนิยมบริโภคบะหมี่ปรุงสำเร็จมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 70 รองลงมาเป็นอาหารฟาสต์ฟู้ด จากพฤติกรรมการบริโภคดังกล่าว ดร.อรัฐา รังผึ้ง สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ระบุว่า ทำให้มีโอกาสเพิ่มปริมาณการบริโภคเกลือและสารให้ความเค็มเพิ่มมากขึ้น บ่งถึงแนวโน้มคนไทยบริโภคเกลือมากกว่าสามเท่าของมาตรฐานปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน คือ เกลือแกงไม่เกินหนึ่งช้อนชา
       
       “พบด้วยว่ากลุ่มตัวอย่างไม่นิยมบริโภคพืชผักผลไม้ โดยบริโภคเฉลี่ยวันละ 1 ทัพพี ซึ่งน้อยกว่ามาตรฐานปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน คือ ประมาณ 5 ทัพพี ซึ่งผลดีของการบริโภคพืชผักผลไม้ช่วยทำให้ร่างกายได้รับเกลือน้อยลงและมีผลดีต่อสุขภาพทำให้ระดับความดันโลหิตไม่สูงจนเกินไป”
       
       ดร.อรัฐา ให้ข้อมูลว่า จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในรอบระยะเวลา 7 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มสูงขึ้นของปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหารที่เกินพอดี จนมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาหารเค็มที่มีปริมาณสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ
       
       “หลักฐานทางการแพทย์แต่เดิมเชื่อว่า เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตของเรามีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ มักจะเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่การศึกษาวิจัยทางการแพทย์จากหลายประเทศ แสดงให้เห็นชัดเจนว่ายิ่งเรากินเค็มมาก ก็ยิ่งจะเป็นสาเหตุให้ความดันโลหิตสูงมากขึ้นด้วย และยังทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย”
       
       ดร.อรัฐา ชี้ว่า นอกจากนี้ยังมีผลให้เกิดโรค อัมพฤกษ์ อัมพาต ในคนไทยอีกเป็นจำนวนมาก ในทางตรงข้ามมีผลการศึกษาประชากรที่ไม่ใช้เกลือในการปรุงอาหารเลย พบว่าความดันโลหิตของประชากรกลุ่มนี้กลับมิได้เพิ่มขึ้นตามอายุเหมือนในประชากรทั่วไป
       
       การรับประทานอาหารรสเค็มเป็นเวลานานๆ จนเป็นนิสัยได้กลายเป็น “ภัยเงียบ” ที่ซ่อนเร้นในวิถีการบริโภคของคนเมืองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันโดยไม่รู้ตัว

       “ผลเสียต่อการกินเค็มนานๆ มีผลทำให้ผนังกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาขึ้นอีกด้วย ซึ่งกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และส่งผลทำให้อัตราการกรองของเสียผ่านไตเพื่อขับถ่ายออกทางปัสสาวะมากขึ้นหรือกล่าวง่ายๆ คือทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้น ส่งผลให้ไตเสื่อมสภาพอันจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตได้อีกด้วย”
  
       ดร.อรัฐา แนะนำวิธีง่ายๆในการเลี่ยงรสเค็มว่า วัฒนธรรมการบริโภคอาหารของคนไทยนิยมบริโภคสารปรุงรสเค็มทั้งเกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรส ซอสถั่วเหลืองและสารปรุงรสเค็มอื่นๆ โดยมิได้บริโภคเกลือหรือน้ำปลาอย่างใดอย่างหนึ่ง ยังไม่นับรวมอาหารปรุงสำเร็จหลากหลายรูปแบบ อาหารกรุบกรอบ อาหารขบเคี้ยวที่เป็นที่นิยมซื้อหามารับประทานกันมากในปัจจุบันทำให้ปริมาณการรับสารให้ความเค็มเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่รู้ตัวจึงควรปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงภัยเงียบดังนี้
       
       หลีกเลี่ยงหรือลดการเติมน้ำปลา ซีอิ๊วหรือซอสปรุงรสในอาหารปรุงสำเร็จ “ชิมก่อนปรุง” ลดการกินอาหารที่มีรสเค็มจัดเช่น กะปิ ปลาเค็ม ไข่เค็ม เป็นต้น ขนมกรุบกรอบที่รับประทานแล้วเพลินและมีเกลือมาก เช่น มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบกุ้ง และอาหารสำเร็จรูป ควรบริโภคให้น้อยลง และเพิ่มการรับประทานผัก ผลไม้ ทุกมื้อของอาหาร หรือ “ผักครึ่งจาน”
       
       ทั้งนี้ ความตระหนักต่อปัญหาการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด และปัญหาโรคความดันโลหิตสูงที่ได้กลายเป็นปัญหาของคนทั่วโลกไปแล้ว ทำให้นานาชาติได้พร้อมใจกันจัด “World Stroke Day” ในวันที่ 24 พฤษภาคม ของทุกปี โดยในประเทศไทย ได้มุ่งเน้นการป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ในหมู่ประชาชน ทั่วไป ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย เพื่อตระหนักถึงผลเสียของการรับประทานอาหารรสเค็ม
........................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น