tororichclub

tororichclub

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555

“มือเท้าปาก” แพร่ไว ผู้ปกครองต้องรู้ให้ทัน ...


กลายเป็นข่าวใหญ่ครึกโครมที่กำลังสร้างความหวาดวิตกให้กับทุกคนเป็นอย่างมาก สำหรับโรคระบาดอย่าง “โรคมือเท้าปาก” ที่มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นและแพร่กระจายรวดเร็ว วันนี้ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จะพาไปรู้จักเจ้าโรคนี้ และวิธีในการป้องกันภัยร้ายของมันไม่ให้ระบาดไปสู่ลูกหลาน หรือคนที่คุณรัก
       
       โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กวัยเรียน โดยมีการระบาดช่วงฤดูฝน โดยมีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (enterovirus) ประกอบด้วย หลายสายพันธุ์ย่อย ที่พบบ่อย ได้แก่ สายพันธุ์คอกแซกกีไวรัส (coxackie virus) A16, A5, A9, A10, B1, and B3 สายพันธุ์เอนเทอโรไวรัส 71 (human enterovirus 71, HEV71) และ สายพันธุ์ไวรัสเริม (herpes simplex viruses, HSV)
       
       โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อจาก “คนสู่คน” ด้วยการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อไวรัสที่ออกมาทาง น้ำลาย น้ำมูก หรืออุจจาระของผู้ป่วย นอกจากนี้ การไอ จาม รดกันสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เช่นกัน หลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะมีการเพิ่มจำนวนเชื้อภายในลำคอ และต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง และมีการเพิ่มปริมาณเชื้อภายในระบบทางเดินอาหารส่วนล่างลงมา หลังจากนั้น เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระแสเลือดไปตามอวัยวะต่างๆ ได้แก่ กระพุ้งแก้ม ผิวหนังบริเวณมือ และเท้า โดยเชื้อโรคใช้เวลาฟักตัว ประมาณ 72 ชั่วโมง ก่อนที่จะทำให้เกิดอาการ หลังจากนั้น เชื้อไวรัสจะถูกกำจัดออกมาจากลำไส้ พร้อมกับอุจจาระ โดยอาจตรวจพบเชื้อไวรัสในอุจจาระได้นาน 6-8 สัปดาห์
       
       โรคมือ เท้า ปาก เกิดขึ้นได้ทั่วโลก โดยพบบ่อยในช่วงฤดูร้อนและช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ แต่ประเทศเขตร้อนนั้นช่วงฤดูที่ระบาดไม่แน่นอน สำหรับประเทศไทยมักพบการระบาดในช่วงฤดูฝน โดยพบการติดเชื้อได้ ทั้งในเพศชายและเพศหญิง โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี สถานที่ที่พบการติดเชื้อได้บ่อยมักเป็นสถานที่ที่มีเด็กเล็กอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียนอนุบาล เป็นต้น
       
       อาการของโรคมือ เท้า ปาก ในระยะเริ่มแรก คือ จะมี ไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ปวดท้อง เจ็บภายในช่องปาก ต่อมาจะเริ่มมีแผลในปาก และผิวหนังตามลำดับ ส่วนมากจะพบบริเวณมือ และเท้า บางครั้งอาจพบบริเวณก้นเด็กได้ ลักษณะเฉพาะของแผลในช่องปาก คือ บริเวณฐานของแผลเป็นสีเหลือง และล้อมรอบด้วยวงสีแดง ส่วนมากเกิดที่บริเวณริมฝีปาก หรือเยื่อบุช่องปาก แต่บางครั้งแผลอาจเกิดขึ้นบริเวณลิ้น เพดานปาก ลิ้นไก่ ทอนซิล หรือเหงือกได้ โรคนี้มักไม่พบผื่นบริเวณรอบริมฝีปาก แผลในช่องปากจะมีอาการเจ็บมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจะมีอาการป่วยได้บ่อยที่สุด
       
       สำหรับผื่นผิวหนังส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณหลังมือ และหลังเท้า แต่บางรายอาจพบผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าได้เช่นกัน ผื่นอาจจะคันหรือไม่ก็ได้ โดยจะเริ่มจากผื่นแดงนูน และเปลี่ยนเป็นผื่นตุ่มน้ำที่มีสีแดงอยู่บริเวณฐานอย่างรวดเร็ว ในเด็กทารกผื่นลักษณะนี้อาจเกิดบริเวณลำตัว ต้นขา และก้น ได้เช่นกัน ผื่นแดงนี้ส่วนมากจะหายได้เองภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์
       
       การดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น ต้องทำอย่างไรบ้าง?       
       ■ ดูแลรักษาตามอาการ เช่น การเช็ดตัวลดไข้ การให้ยาลดไข้ การให้ยาตามอาการ เช่น ยาชาป้ายแผลในปาก
       
       ■ ประเมินภาวะร่างกายขาดน้ำ ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยเด็ก การประเมินว่าร่างกายขาดน้ำหรือไม่สามารถประเมินได้จากอัตราการเต้นชีพจร ความยืดหยุ่นของผิวหนัง ความแห้งของตา ปริมาณน้ำตาขณะที่เด็กร้องไห้ ความแห้งของเยื่อบุช่องปาก รวมถึงประเมินจากปริมาณและความถี่ของปัสสาวะ
       
       สังเกตอาการแทรกซ้อน      
       ■ การติดเชื้อที่ผิวหนัง พบได้บ่อยที่สุด
       ■ เกิดภาวะขาดน้ำ เนื่องจากดื่มน้อยลง จากการเจ็บแผลในช่องปาก
       ■ ส่วนน้อยอาจเกิดอาการแทรกซ้อนของระบบประสาท และระบบไหลเวียนโลหิต
       
       หากบุตรหลานมีอาการป่วย ควรทำอย่างไร ?       
       ควรแยกเด็กป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่น ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และรักษาตัวที่บ้านอย่างน้อย 5-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น แต่หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบพากลับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที
       
       ไม่ควรพาเด็กไปสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด และห้างสรรพสินค้า ควรให้เด็กอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ควรใช้ผ้าปิดจมูกปากขณะไอจาม และระมัดระวังการไอจามรดกัน ผู้ดูแลเด็กต้องหมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของเด็กที่ป่วย
       
       หากมีเด็กป่วยจำนวนมากในโรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรทำอย่างไร ?
       
       มาตรการช่วงที่เกิดโรคระบาดต้องเน้นการสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่งอาจจำเป็นต้องประกาศเขตติดโรคและปิดสถานที่ที่มีการระบาด เช่น สถานรับเลี้ยงเด็กอ่อน โรงเรียนเด็กเล็ก อาจรวมถึงสระว่ายน้ำ และสถานที่แออัดอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับเด็กป่วย และควรเน้นการล้างมือบ่อยๆ รวมทั้งการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในโรงพยาบาลและบ้านเรือนที่มีผู้ป่วย ผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้จัดการสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรดำเนินการดังนี้
       
       - แจ้งการระบาดไปที่หน่วยงานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปสอบสวนการระบาด ให้ความรู้ และคำแนะนำ
       
       - เผยแพร่คำแนะนำ เรื่องโรคมือ เท้า ปาก แก่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยที่ช่วยป้องกันโรคติดต่อ โดยเฉพาะการล้างมือและการรักษาสุขอนามัยของสภาพแวดล้อมและควรแยกของใช้ไม่ให้ปะปนกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อนอาหาร ฯลฯ
       
       - เฝ้าระวังโดยตรวจเด็กทุกคน หากพบผู้ที่มีอาการโรคมือ เท้า ปาก ต้องรีบแยกและให้หยุดเรียนประมาณ 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่น
       
       - ควรรีบพาเด็กป่วยไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว และดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
       
       - พิจารณาปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วย กรณีที่มีเด็กป่วยหลายห้องหรือหลายชั้นเรียนควรปิดโรงเรียนชั่วคราวอย่างน้อย 5-7 วัน
       
       - หากพบการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก หรือ มีผู้ป่วยติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 อยู่ภายในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก แนะนำให้ปิดชั้นเรียนที่มีเด็กป่วยมากกว่า 2 คน หากมีการป่วยกระจายในหลายชั้นเรียนแนะนำให้ปิดโรงเรียนเป็นเวลา 5 วัน พร้อมทำความสะอาดอุปกรณ์รับประทานอาหาร ของเล่นเด็ก ห้องน้ำ สระว่ายน้ำ และให้มั่นใจว่าน้ำมีระดับคลอรีนที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน
       
       - ทำความสะอาดสถานที่เพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณห้องน้ำ สระว่ายน้ำ โรงครัว โรงอาหาร บริเวณที่เล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น โดยใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาวผสมในอัตราส่วน 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1 ลิตร หรือใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ตามบ้านเรือน แล้วเช็ดด้วยน้ำสะอาด
       
       - ทำความสะอาดของเล่นและเครื่องใช้ของเด็กด้วยการซักล้างแล้วผึ่งแดดให้แห้ง
       
       - ไม่ควรใช้เครื่องปรับอากาศ แต่แนะนำให้ระบายอากาศโดยการเปิดประตู หน้าต่าง ผ้าม่าน ให้แสงแดดส่องได้ทั่วถึง
       
       ถ้าพบอาการดังที่กล่าวมาขั้นต้นควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อเป็นการร่วมกันยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ไม่ให้ลุกลาม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร.1719
       
   Thank : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
............................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น