tororichclub

tororichclub

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

อ่าน...สร้างพลังคิด เสริมพลังชีวิต...



สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
      ถึงช่วงเวลานี้ทีไร ชาวกรุงเทพมหานครมักจะจดจำได้ว่าจะมีงานมหกรรมใหญ่ๆ หลายงานในช่วงปลายเดือนมีนาคมจนเข้าสู่เดือนเมษายนของทุกปี...ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มขึ้นแล้ว
       งานแรก คือ งานกาชาด ที่บรรดาร้านค้าจำนวนมากมาออกบูธจำหน่ายสินค้าราคาถูกบริเวณสวนอัมพร และลานพระบรมรูปทรงม้า ส่วนงานที่สอง คือ งานมอเตอร์โชว์ ที่เอาใจคนรักรถเพื่อกระตุ้นยอดขาย และสาม คือ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อให้คนรักการอ่านได้มีโอกาสเลือกซื้อหาหนังสือในราคาถูกจากหลากหลาย สำนักพิมพ์
       วัตถุประสงค์หลักของงานต้องการผลักดันให้วันที่ 2 เมษายน ซึ่งถือว่าเป็นวันหนังสือเด็กแห่งชาติ ให้ได้รับความสำคัญ เพื่อกระตุ้นให้พ่อแม่และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กใส่ใจกับเรื่องส่งเสริมการรักการอ่าน โดยถือเอาวันหนังสือเด็กแห่งชาติเป็นวาระสำคัญในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน 
       ที่น่าชื่นใจไปกว่านั้น วันที่ 2 เมษายนของทุกปีต้องถือเป็นวาระสำคัญของประชาชนชนชาวไทยด้วย เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งยังเป็นวันเกิดของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน นักเขียนและนักเล่านิทานชาวเดนมาร์ก ซึ่งเป็นนักแต่งนิทานที่มีชื่อเสียงในระดับโลกอีกด้วย
       โครงการร้อยกิจกรรมวันหนังสือเด็กแห่งชาติในปีนี้ นำแนวความคิดคอนเซ็ปต์ “พลังอ่าน พลังคิด พลังชีวิต” เพื่อสร้างพลังการเรียนรู้ เปิดประตูโลกแห่งการอ่าน เติมแต่งจินตนาการให้กับเด็กๆ พร้อมสาระความรู้เพื่อผู้ใหญ่ อันจะช่วยสร้างกระแสการส่งเสริมการอ่านให้เกิดขึ้น ตลอดจนเกิดเป็นวัฒนธรรมรักการอ่านขึ้นในสังคมไทย
       กิจกรรมส่งเสริมการอ่านก็มีหลากหลายมิติ ทั้งการเล่านิทานอ่านหนังสือ และสารพัดรูปแบบหลากหลายเทคนิคในการเล่านิทานให้เด็กฟัง รวมไปถึงการทำ Work Shop น่ารักๆ ประกอบการอ่านทั้งสำหรับพ่อแม่และสำหรับครู
       ว่าแล้วก็ขอนำข้อมูลมาฝากตอบโจทย์ที่ว่า พลังอ่าน “สร้าง”พลังคิด”เสริม”พลังชีวิตได้อย่างไร 
       คุณรู้หรือไม่ว่า...ทุกครั้งที่พ่อแม่อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง สมองส่วนการเรียนรู้ของลูกน้อยได้เริ่มทำงานแล้ว
       สมองส่วนหน้า (Frontal Lope) ทำหน้าที่เรียนรู้ จดจำเกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรม เช่น การเดิน การพูด การแก้ปัญหา ควบคุมเกี่ยวกับการวางแผน การกระทำต่างๆ การตอบสนอง พัฒนาการของสมองส่วนนี้เริ่มขึ้นเมื่อเด็กอายุประมาณ 6-12 เดือน
       สมองส่วนหลัง (Parietal Lope) ควบคุมเกี่ยวกับความรู้สึกสัมผัสจากผิวกายส่วนต่างๆ รับรู้เรื่องของมิติสัมพันธ์กับกาลเวลา และสถานที่ สามารถจดจำสิ่งของจากการสัมผัสจับสิ่งต่างๆ การทำงานสัมพันธ์กันระหว่างมือและตา
       สมองส่วนท้ายทอย (Occipital Lope) ควบคุมเกี่ยวกับการมองเห็น จดจำสิ่งของหรือคน และรับรู้ ทำหน้าที่ส่งข้อมูลในสิ่งที่มองเห็นไปยังสมอง (เข้าใจว่าสิ่งที่มองเห็นนั้นคืออะไร) สามารถพัฒนาได้ตั้งแต่แรกเกิด
       สมองส่วนขมับ(Temporal Lobe) รับรู้ข้อมูลจากการได้ยิน และการพูด และความจำบางส่วน
       
       แล้วการอ่านไปสร้างพลังคิดได้อย่างไร
       - น้ำเสียงที่ได้ยิน ภาพที่ได้เห็น จะช่วยให้ลูกสนใจฟัง ขณะเดียวกันสมองของลูกจะสร้างภาพตามเรื่องที่พ่อแม่เล่า จึงเป็นการส่งเสริมจินตนาการ ส่งผลให้เซลล์สมองของลูก ทำงานสมบูรณ์ขึ้น
       - สมองของลูกไม่ได้จดจ่อเฉพาะการฟังและสิ่งที่เห็น แต่มองรูปร่าง ท่าทาง น้ำเสียง สายตา ความรู้สึกร่วมไปด้วย การอ่านนิทานให้ลูกฟัง จึงเป็นการสร้างพื้นฐานทางภาษาที่ดีให้กับลูก
       - การฟังนิทานเรื่องใหม่ๆ สมองของลูกจะสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองขึ้นมา และขณะที่ฟังนิทาน เรื่องเดิมบ่อยๆ จะเป็นการสร้างเครือข่ายเส้นใยประสาทให้เพิ่มและทำงานมากขึ้น เมื่อลูกโตขึ้นจะช่วยให้ลูกเข้าใจ คิดสิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบ และเข้าใจได้รวดเร็ว
       - ช่วงเวลาที่ลูกจดจ่อ ตั้งใจฟังพ่อแม่อ่านหรือเล่านิทาน ลูกน้อยจะผ่อนคลายและเกิดสมาธิ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความฉลาดทางปัญญาให้กับลูก
       แล้วการอ่านไปเสริมพลังชีวิตได้อย่างไร        
       ความสุขที่เกิดจากความรู้สึกและอารมณ์ที่เป็นบวก จะทำให้ลูกเกิดความทรงจำที่ดี เก็บอยู่ในสมอง มีการสร้างเครือข่ายเส้นใยประสาท และเชื่อมต่อเซลล์สมองที่กระจายตัวอยู่เข้าหากันเป็นอย่างดี เพิ่มกระบวนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่ยังเล็ก สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีให้กับลูก และถ้าพ่อแม่สอดแทรกคุณธรรมผ่านหนังสือหรือนิทานให้ลูกบ่อยๆ หรือใส่ข้อมูลที่ต้องการปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้เป็นทักษะชีวิตและข้อคิดต่างๆ ก็เท่ากับเป็นการเสริมสร้างทักษะชีวิต หรือเพิ่มพลังชีวิตให้ลูกได้ด้วย

........................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น