tororichclub

tororichclub

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กรมวิทย์เผย กะปิใน 6 จังหวัดภาคใต้กว่า 50 % ใส่สี


          กรมวิทย์เผยผลตรวจกะปิใน 6 จังหวัดภาคใต้ พบกว่า 50 % ใส่สี เหตุวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต กุ้งหมัก และเคย ใส่สี แนะผู้บริโภคอย่าซื้อกะปิที่มีสีฉูดฉาด สดใส ม่วงแดง 
          เมื่อวันที่ 31 ต.ค. นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กะปิจัดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือผลิตภัณฑ์โอท็อปที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นผลิตจากการหมักเคยหรือกุ้งกับเกลือในอัตราส่วนที่เหมาะสม ใช้เวลาหมักไม่น้อยกว่า 2 เดือน

          กะปิมักนิยมใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อาหารหลายๆ ชนิด เช่น น้ำพริกกะปิ น้ำพริกสำเร็จรูป เครื่องแกงชนิดต่างๆ เพื่อช่วยปรุงแต่งรสชาติอาหารให้กลมกล่อม ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (2547) ระบุว่า

        กะปิเป็นอาหารที่ไม่มีการอนุญาตให้ใช้สีไม่ว่าสีนั้นจะมีความปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยก็ตาม ถือว่าผิดกฎหมาย

        ขณะที่ จากข้อมูลการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์กะปิของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 จ.ตรัง ในปี 2552-2554 โดยเก็บตัวอย่างกะปิจาก จ.กระบี่ ตรัง ระนอง รวม 88 ตัวอย่าง พบมีการใช้สี 52 ตัวอย่าง คิดเป็น 59.1 % โดยเป็นสีที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร 49 ตัวอย่าง

          “สีเหล่านี้เมื่อสะสมอยู่ในร่างกายแล้วอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เพราะเป็นสีห้ามใช้ เช่น สีโรดามีน บี อาจทำให้เกิดผื่นที่ผิวหนัง หน้าบวม อาเจียน ท้องเดิน อาการชา เพลีย และอ่อนแรงคล้ายเป็นอัมพาต การทำงานของระบบทางเดินอาหาร ไต และตับเสีย สีบางชนิดอาจทำให้เกิดมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะอื่นๆ 

          นอกจากนี้ยังมีอันตรายจากสารอื่นที่ติดมาเนื่องจากการสังเคราะห์ หรือจากกระบวนการผลิตที่แยกเอาสารเจือปนออกไม่หมด เซ่น แคดเมียม ปรอท ตะกั่ว สารหนู โครเมียม พลวง และเซเรเนียม ซึ่งพิษของโลหะหนักเหล่านี้อาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

          อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า ในปี 2555 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 ได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนกะปิ เพื่อวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยง และพัฒนาคุณภาพกะปิให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณภาพ โดยเก็บตัวอย่างกะปิในเขตเทศบาลเมือง 6 จังหวัด คือ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล จำนวน 86 ตัวอย่าง 

          และจากผลการตรวจคุณภาพด้านเคมีพบว่าผ่านเกณฑ์ 47.7 % ไม่ผ่าน 52.3 % โดยมีสาเหตุคือพบสีโรดามีน 50 % สีซันเซ็ต เย็ลโลว์ เอ็ฟซีเอ็ฟ 9.3 % สีเอโซรูบีน 9.3 % และสีปองโซ 4 อาร์ 1.1 %

นพ.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อนำข้อมูลผลการทดสอบหาปริมาณกรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก สีซันเซ็ต เย็ลโลว์ เอ็ฟ ซี เอ็ฟ สีเอโซรูบีน และสีปองโซ 4 อาร์ และการสำรวจการบริโภคอาหารประเภทแกง น้ำพริก และอาหารประเภทผัดหรือยำที่มีกะปิผสมมาประเมินความเสี่ยงของการได้รับสัมผัสที่จะเกิดผลเสียหายต่อสุขภาพ พบมีค่าน้อย ซึ่งไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียหายต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามยังพบสีโรดามีน บี จึงยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียหายต่อสุขภาพของผู้บริโภค

ส่วนคุณภาพด้านจุลินทรีย์ พบการปนเปื้อนเชื้อคลอสทริเดียม เพอร์ฟิงเจน 3.48 % แต่อยู่ในระดับปลอดภัย ส่วนการเลือกซื้อกะปิ ไม่ควรเลือกซื้อกะปิที่สีฉูดฉาด สดใส เช่น สีม่วงแจ๋ หรือสีม่วงแดง เพราะโดยธรรมชาติของกุ้ง และเคยแม้จะนำมาหมักไม่น่าจะมีสีฉูดฉาด

ด้าน น.ส.ธาริยา เสาวรัญ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 ตรัง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุการพบสีในกะปิ พบว่าเกิดจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกะปิ ได้แก่ 

กุ้งหมัก และเคย มีการใส่สีถึง55.5 % ดังนั้น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงแจ้งให้ผู้ผลิตเลือกซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพมีใบรับรอง และจัดทำฐานข้อมูลของแหล่งซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพ รวมทั้งให้คำแนะนำการผลิตกะปิตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหารขั้นต้น ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่193) พ.ศ.2543 

เพื่อให้กะปิมีคุณภาพและปลอดภัย สำหรับผู้บริโภคและผู้ประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย ควรเลือกซื้อกะปิที่ไม่ผสมสีและหลีกเลี่ยงไม่ซื้ออาหารที่มีสีฉูดฉาด.

Thank : @dmsc.moph.go.th/dailynews
.......................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น