tororichclub

tororichclub

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ใจสั่นใจหวิว เป็นโรคแพนิค หรือเปล่า

โรคแพนิก คืออะไร?
          โรคแพนิคเป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีความทุกข์ทรมานอย่างมากจากอาการวิตกกังวล ซึ่งสามารถแสดงออกได้หลายอย่าง และอาการนั้นมีความรุนแรงจนรบกวนกับชีวิตประจำวันในด้านต่าง ๆ  ผู้ป่วยโรคแพนิคจะมีอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรง (panic attacks) ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ โดยที่ไม่สามารถควบคุมอาการเหล่านั้นได้

ไม่รู้กลัวอะไร แต่ใจมันหวิว?
          อาการหลักของโรคนี้ ได้แก่ อาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงหรือที่เรียกว่าอาการแพนิค ที่เกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้ง โดยมากจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ และจะมีอาการอยู่สั้นๆประมาณ 5-10นาทีไม่นานเกิน 30 นาที ทำให้ผู้ป่วยกลัวที่จะเกิดอาการซ้ำอีก กังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอาการ หรือกลัวเกิดอาการซ้ำในที่สาธารณะจนหลีกเลี่ยงการออกไปไหนมาไหน จึงมีผลรบกวนกับชีวิตประจำวันในด้านต่าง ๆ
          อาการของแพนิคมีได้หลาย ๆ อย่าง ได้แก่ ใจสั่น เหงื่อแตก มือเท้าชา หายใจไม่อิ่มหรือรู้สึกมีก้อนจุกที่คอ แน่นหน้าอก เวียนหัว คลื่นไส้ มวนท้อง มีความรู้สึกภายในแปลกๆ เช่น รู้สึกมึนงงคล้ายจะเป็นลม รู้สึกเหมือนกำลังจะตาย รู้สึกหวิวๆ ลอยๆ คล้ายอยู่ในฝัน โดยที่จะมีอาการหลาย ๆ อย่างดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน แต่ไม่จำเป็นต้องมีทุกอาการ
โรคแพนิคเกิดจากอะไร
           สาเหตุการเกิดโรคแพนิคนั้นมีสมมติฐานที่อธิบายหลายอย่าง ประกอบด้วยสาเหตุทางพันธุกรรม ความไม่สมดุลย์ของสารเคมีในสมอง การเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจในอดีต รวมทั้งความเครียดในปัจจุบัน  ทำให้เกิดสัญญาณหลอก (false alarm) ราวกับว่าร่างกายกำลังเผชิญหน้ากับอันตราย ร่างกายจึงหลั่งสารเคมีและฮอร์โมนบางตัวออกมาในปริมาณที่มากกว่าปกติทำให้เกิดอาการดังกล่าว

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคทางกายจริงๆหรือเป็นแพนิค
          เนื่องจากอาการหลาย ๆ อย่างของโรคแพนิคนั้นสามารถเกิดได้จากโรคทางกายอื่น ๆ เช่นอาการแน่นหน้าอกจากโรคหัวใจหรือโรคปอด อาการใจสั่นหน้ามืดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด รวมทั้งยาเสพติดและคาเฟอีน ดังนั้นเมื่อเกิดอาการขึ้นเป็นครั้งแรก หรือเมื่อไม่แน่ใจในสาเหตุของอาการ ควรพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยให้ถูกต้องก่อนว่าอาการไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่น และถ้าไม่แน่ใจหรืออาการเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจต้องมาพบแพทย์ที่หน่วยฉุกเฉินเพื่อตรวจรักษา 

เป็นแล้วจะรักษาอย่างไร?
          การรักษาโรคแพนิคควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช โดยที่การรักษาจะใช้การผสมผสานระหว่างการให้ยาเพื่อลดอาการแพนิค และให้ยาเพื่อคุมอาการในกรณีที่มีอาการมาก ร่วมกับการรักษาทางจิตสังคม เช่นการทำพฤติกรรมบำบัด การผึกการผ่อนคลาย หรือการทำจิตบำบัด นอกจากนี้ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจรักษาภาวะทางกายหรือจิตเวชอื่น ๆ ที่อาจจะพบร่วมกับโรคแพนิคได้ เช่นโรคหัวใจ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลชนิดอื่น ๆ   รวมทั้งการติดสุราหรือสารเสพติดอื่น ๆ 
          เมื่อรักษาด้วยยาคุมอาการ อาจจะมีความจำเป็นต้องรับประทานยาต่อเนื่องหลายเดือนขึ้นอยู่กับอาการและการตอบสนองต่อยา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหยุดยาได้ในที่สุดแต่บางส่วนจะมีอาการกลับมาเป็นซ้ำอีกโดยเฉพาะเมื่อมีภาวะเครียดเกิดขึ้น

ถ้ามีโรคแพนิคจะดูแลตนเองอย่างไร?
     - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ คนไข้อาจไม่กล้าทำ เพราะคิดว่าจะยิ่งทำให้ใจสั่นเวลาเหนื่อย แต่ที่จริงแล้วการออกกำลังกลับทำให้ระบบหัวใจ   และปอดทำงานสมดุลขึ้น
     - พักผ่อนอย่างเพียงพอและมีสุขลักษณะการนอนที่ดี หากอดนอนโรคจะกำเริบง่าย
     - งดใช้คาเฟอีน (ชา กาแฟ ชาเขียว เครื่องดื่มชุกำลัง) สุรา และสารเสพติด เพราะอาจมีฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดแพนิค
     - การผึกการผ่อนคลายด้วยวิธีเหล่านี้  โดยต้องฝึกอย่างสม่ำเสมอและใช้เวลาอย่างน้อยครั้งละ 15-20 นาที
     - การฝึกหายใจเข้าออกช้า ๆ  
     - การฝึกสมาธิ หรือเดินจงกรม
     - การฝึกจินตนาการเพื่อการผ่อนคลาย โดยอาจใช้ฟังเพลงช่วย
     - การผึกโยคะ ไทเก็ก หรือการออกกำลังที่ประสานร่างกายและจิตใจ
     - การได้ปรึกษาหรือระบายปัญหากับผู้ที่ตนไว้ใจหรือศรัทธา หรือใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิต
     - การจัดการกับความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่นศึกษาธรรมะ หรือทำงานอดิเรกที่ผ่อนคลาย
     - ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา และแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อมีอาการเกิดขึ้นหลังจากใช้ยา
     - เวลาเป็นแพนิค อย่าเพิ่งตกใจ อย่าคิดต่อเนื่องไปว่าจะป่วยหนักหรือจะหัวใจวายตาย เพราะจะยิ่งทำให้เครียดและ ยิ่งเป็นมากขึ้น ให้นั่งพักและรออาการสงบไป ซึ่งจะหายไปเองเหมือนครั้งก่อนๆที่เคยเป็น หรือรับประทานยาที่แพทย์ให้ไว้ใช้เวลาที่เกิดอาการแล้วพักสักครู่รอยาออกฤทธิ์ ขอให้มั่นใจว่าไม่เคยมีใครตายจากโรคแพนิค มีแต่คนที่เป็นแล้วคิดมากจนไม่มีความสุข เลยไม่หายและยิ่งเป็นบ่อยๆ

ที่มา: http://www.cumentalhealth.com
.....................................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น