tororichclub

tororichclub

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เตือน! ปลาดุกย่างมีสารเสี่ยงก่อมะเร็ง


เตือน! ปลาดุกย่างมีสารปนเปื้อนมากสุด เสี่ยงก่อมะเร็ง
          กรมวิทย์ เตือน ปลาดุกย่าง-หมูปิ้ง-ไก่ย่าง ปนเปื้อนสารเบนโซเอไพรีน เสี่ยงก่อมะเร็ง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานยุโรป แนะหลีกเลี่ยงอาหารไหม้เกรียม

          เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีนองชิม ว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ส่งตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดังกล่าวมาตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ภายหลังมีข่าวว่ามีการตรวจพบสารเบนโซเอไพรีน ซึ่งเป็นสารที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งปนเปื้อนในผงปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดังกล่าว โดยคาดว่าจะทราบผลการตรวจวิเคราะห์ภายใน 2 วัน 

          นอกจากนี้ นพ.นิพนธ์ ยังระบุด้วยว่า ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารเบนโซเอไพรีนในอาหารมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2554 มีการสุ่มสำรวจอาหารที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการปนเปื้อน ได้แก่ ไก่ย่าง ปลาดุกย่าง และหมูปิ้ง โดยเก็บตัวอย่างจากตลาดสดใน กทม. 42 แห่ง รวม 101 ตัวอย่าง 

          - ไก่ย่าง 35 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนร้อยละ 31 ปริมาณสารดังกล่าวที่พบอยู่ที่ 0.5-0.7 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม

          - ปลาดุกย่าง 36 ตัวอย่าง พบปนเปื้อนร้อยละ 81 ปริมาณสารที่พบอยู่ที่ 0.5-3.2 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม

          - หมูปิ้ง 30 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนร้อยละ 40 ปริมาณสารที่พบอยู่ที่ 0.3-1.3 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม 

          ทั้งนี้ สารเบนโซเอไพรีน เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่ำ แม้จะมีการทดลองพบว่าสารนี้มีผลก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่พบข้อมูลที่เพียงพอว่าจะทำให้ก่อมะเร็งในคน อีกทั้ง ปริมาณสารที่พบยังถือว่ามีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ประกาศในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป กำหนดไว้ที่ 5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม

          ทางด้าน นายมงคล เจนจิตติกุล ผอ.สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า แม้ผลการตรวจวิเคราะห์ในกลุ่มอาหารที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารดังกล่าวจะพบการปนเปื้อนในปริมาณที่ต่ำกว่ามาตรฐานมาก แต่อยากแนะนำว่าเพื่อความปลอดภัยก่อนรับประทานควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมออกไป ไม่ควรรับประทานอาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม ส่วนกรณีปลาดุกย่างนั้นแนะนำว่าควรลอกหนังออกและรับประทานแต่เนื้อจะช่วยลดความเสี่ยงการได้รับสารดังกล่าวลงได้

Thank : คมชัดลึก
...........................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น