นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงโรคที่เสี่ยงสำหรับผู้หญิงในสถานการณ์น้ำท่วมว่า สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ โรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศ โรคที่เกี่ยวข้องกับอวัยะเพศจะเกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุหลัก ๆ คือ
1.เชื้อโรค เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย ส่วนปรสิตและไวรัสไม่ค่อยพบได้บ่อยนัก
2.สารเคมี
3.เกิดจากที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไป เช่น ปลิง
สาเหตุที่มาจากเชื้อโรคและสารเคมีจะก่อให้เกิดความผิดปกติกับอวัยวะเพศ เช่น ระคายเคือง คัน อักเสบ ตกขาว เลือดออกผิดปกติ และหากเชื้อโรคสามารถเข้าไปยังบริเวณมดลูก ปีกมดลูก จะทำให้มีอาการปวดท้องน้อย มีไข้ มดลูกอักเสบไปจนถึงการอักเสบของอุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะหากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นกับคนที่ภูมิต้านทานโรคไม่ดี อาจเกิดการลุกลามจนเชื้อโรคหลุดเข้ากระแสเลือดได้
นพ.สุวรรณชัยกล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่อยู่ในภาวะมีรอบเดือน หญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด และหญิงที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน หรือกรณีที่มีโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงมาก่อน แต่หากเลี่ยงไม่ได้หรือจำเป็นต้องลุยน้ำจริง ๆ จะต้องหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น กางเกงพลาสติกที่ปิดตั้งแต่เท้าจนถึงเอว หรือใช้ถุงพลาสติก และในกรณีที่ไม่มีการป้องกันตัวเองขณะลุยน้ำ ขอให้รีบทำความสะอาดบ่อยๆ ด้วยน้ำ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเฉพาะจุดซ่อนเร้น จากนั้นซับให้แห้ง และใช้วาสลีนทาเคลือบบริเวณดังกล่าวอีกครั้ง แต่หากมีอาการผิดปกติขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที
"ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอยู่ที่คุณภาพของน้ำและระยะเวลาในการแช่น้ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะบริเวณที่ระดับน้ำสูงระดับเอวขึ้นไป หรือกิจกรรมที่เราทำด้วย เช่น การขยับแข้งขยับขา แยกขาในน้ำ โอกาสในการที่เชื้อโรคจะเข้าไปยิ่งมีมากขึ้น" นพ.สุวรรณชัยกล่าว
ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเตือนประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ที่เป็นผู้หญิงหากต้องเดินลุยน้ำที่ท่วมขังในช่วงที่มีประจำเดือน ว่า ช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่ปากมดลูกเปิดจึงง่ายต่อการที่เชื้อโรคต่าง ๆ จะเข้าทางช่องคลอด ดังนั้นหากมีการลุยน้ำท่วมโดยไม่ใส่กางเกงพลาสติกกันน้ำไม่ให้มาสัมผัสอวัยวะเพศ จะมีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อแบคทีเรียทางช่องคลอดได้ แต่โดยปกติหากไม่ใช่ช่วงที่มีประจำเดือนร่างกายเพศหญิงจะมีกระบวนการป้องกันเชื้อโรคเข้าทางช่องคลอดได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว แม้จะลุยน้ำ เชื้อก็จะไม่เข้าทางช่องคลอดโดยง่าย แต่กรณีน้ำท่วมที่เริ่มเน่าเสียก็ไม่ควรแช่เป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องลุยน้ำควรรีบล้างทำความสะอาดด้วยสบู่ ซับให้แห้งอยู่เสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อรา และแบคทีเรียต่าง ๆ
นอกจากนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังเตือนประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมที่นำน้ำประปามาดื่ม ว่า ขณะนี้ไม่ควรดื่มทันที ควรต้มให้เดือดนาน 5 นาที ก่อนจึงจะสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย ไร้การปนเปื้อนของเชื้ออีโคไล คลอริฟอร์ม เชื้อซาโมเนร่า และเชื้อชิเกร่า ซึ่งก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร หากเกิดท้องเสียรุนแรงแล้วไม่สามารถมาพบแพทย์ได้แนะนำให้ทำน้ำเกลือดื่มเองไปก่อนป้องกันร่างกายขาดน้ำจนช็อค โดยน้ำเกลือสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการ นำน้ำต้มสุก 750 ซีซี ผสมกับเกลือ ครึ่งช้อนชา และน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ
Thank : ไทยโพส
..............................................................................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น