อย. เฝ้าระวังปลาญี่ปุ่นหลังพบปนเปื้อนกัมมันตรังสีสูง
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีสถาบันสมุทรศาสตร์วูดโฮลสหรัฐอเมริกา เปิดเผยผลประเมินรายงานสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลญี่ปุ่น ว่าด้วยการศึกษาปริมาณสารปนเปื้อนในสิ่งมีชีวิตทางทะเลฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วไหล ใน จ.ฟุกุชิมะ จากเหตุการณ์สึนามิปี 2554 พบปลาที่สุ่มตรวจร้อยละ 40 มีปริมาณสารซีเซียมสูงกว่าระดับบริโภคได้ แสดงให้เห็นว่าอันตรายจากนิวเคลียร์รั่วไหลยังไม่หมดไปว่า อย.มีมาตรการเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารที่นำเข้าจากญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าอาหารทุกประเภท จาก 8 จังหวัดของญี่ปุ่น ได้แก่ ฟุกุชิมะ กุมมะ อิบารากิ โทจิงิ มิยางิ ชิบะ คานากาวะ และ ชิซูโอกะ แสดงผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากห้องปฏิบัติการของรัฐ หรือเอกชนที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน จากประเทศญี่ปุ่น โดยระบุชนิดอาหารและปริมาณกัมมันตรังสีอย่างละเอียด
ส่วนกรณีนำเข้าอาหารจากพื้นที่นอกเหนือจาก 8 จังหวัดของญี่ปุ่น ผู้นำเข้าต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ที่มีการเพาะปลูก เพาะเลี้ยงหรือผลิต จากหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานที่รัฐรับรอง หรือสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งด่าน อย.ไทยจะไม่อนุญาตให้ผู้นำเข้า นำอาหารเข้าประเทศจนกว่าจะมีเอกสารหรือหลักฐานมาแสดง
นพ.บุญชัยกล่าวว่า ทั้งนี้ จากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์นำเข้าจากญี่ปุ่น เพื่อวัดกัมมันตรังสีในอาหารตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2554 – 26 ตุลาคม 2555 ในปลาสด 413 ตัวอย่าง มี 28 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี แต่ไม่เกินมาตรฐานกำหนด จึงขอให้ผู้บริโภควางใจ หากพบกัมมันตรังสีหรือสารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อย.จะไม่ปล่อยให้สินค้าเล็ดรอดเข้าประเทศเด็ดขาด
ข่าวจาก http://www.naewna.com/local/28309
...................................................................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น