นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้พูดถึงอันตรายของแร่ใยหินที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนว่า แร่ใยหินที่อันตรายนั้นมีทั้ง ตัวสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบของแร่ใยหิน อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ในรูปผลึก และจะเกาะอยู่ที่เนื้อเยื่อคน และสุดท้ายคือ จะอยู่เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากมันเป็นผลึกที่แข็ง แต่ปัญหาที่สำคัญคือ แร่ชนิดนี้จะทำให้ทางเดินหายใจ เนื้อปอดและเยื่อหุ้มปอด เกิดการอักเสบเรื้อรัง และเป็นพังพืดในระยะยาวต่อไป พวกเนื้อเยื่อพังพืดที่ไม่ดีเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นเนื้อมะเร็ง สิ่งที่พบบ่อยคือ เนื้อมะเร็งที่เยื่อหุ้มปอดทำให้ระบบการหายใจเสียหาย และจะทำให้เป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดได้ในที่สุด นี่คือผลกระทบของแร่ชนิดนี้
"ถ้าเราสูดอากาศหรือสัมผัสสิ่งที่ปนเปื้อนแร่ใยหินเข้าไปบ่อยๆ จะทำให้เกิดการสะสมภายในร่างกายและใช้เวลานานกว่าจะแสดงอาการ ถือว่าเป็นโรคเรื้อรังเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะค่อยๆ แสดงอาการออกมาแต่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับและสภาพร่างกายของผู้รับด้วย และจะมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ไอ หอบ หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย และไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งเป็นผลมาจากเนื้อเยื่อปอดนั้นถูกทำลาย การป้องกันที่ดีที่สุดคือ อย่าให้มีอุตสาหกรรมแอสเบสทอส(Asbestos) เนื่องจาก แอสเบสทอส (Asbestos) มีความหนืดสูง และก็มีความทนที่ดีที่สุดด้วย" นพ.ณรงค์ศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติม
แพทย์ผู้เชี่ยวด้านสุขภาพ บอกอีกว่า องค์การอนามัยโลกที่ดูแลสุขภาพยืนยันว่า แร่ใยหินทุกชนิด ทำให้เกิดมะเร็งได้ ILO เป็นองค์การแรงงานสากล ก็ออกมายอมรับตรงนี้ว่า ถ้าเกิดมีการประกอบการเกี่ยวกับการผลิตที่ต้องใช้แร่ใยหิน จะต้องมีมาตรการการป้องกันอย่างเข้มข้น ซึ่งในประเทศไทยมาตรการเข้มข้นนี้ยังอยู่ในช่วงดำเนินการเพื่อหาข้อสรุปที่แน่ชัด เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นความเสี่ยงของลูกจ้างทั้งหลายที่จะต้องทำงานอยู่ในโรงงานที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง ส่วนคนทั่วไปก็มีโอกาสที่จะสัมผัสจาก แอสเบสทอส(Asbestos) ได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเกิดจากกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น ท่อน้ำต่างๆ พวกผ้าเบรก ขณะเบรกรถ ก็จะฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ ซึ่งในหลายประเทศก็พบว่าตามถนน ถ้าสามารถตรวจวัดก็จะเจอในปริมาณที่น่าเป็นห่วงเหมือนกัน การป้องกันที่ดีที่สุด ก็คือต้องยกเลิกนำเข้าอย่างเด็ดขาด"
"เราไม่อยากให้มีกลุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะท้ายสุดแล้วบั้นปลายชีวิตของเขานั้นมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งสูง แต่ละคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ควรปฏิบัติตามกรอบการป้องกันตัวเอง ซึ่งนายจ้างต้องจัดหาอุปกรณ์และชุดทำงาน รวมทั้งระบบการไหลเวียนอากาศภายในโรงงานให้กับคนงาน และต้องใส่เครื่องป้องกันเหล่านี้อย่างเคร่งครัด ส่วนวิธีการเลือกซื้อสินค้าอย่างกระเบื้องมุงหลังคา ซึ่ง ณ วันนี้ก็มีโรงงาน ผู้ประกอบการยกเลิกการผลิตสินค้า ประเภทกระเบื้องมุงหลังคาที่มีแร่ใยหินเจือปน และใช้วัสดุทดแทนพวก โพลิเมอร์ ไวนิล ซึ่งราคาก็ไม่ต่างกันมากแต่แน่นอนที่สุดก็คือความปลอดภัยขอคนงานกับผู้ใช้ผลิตภัณฑ์" แพทย์ผู้เชี่ยวด้านสุขภาพแนะนำทิ้งท้าย
ถึงแม้ว่าการผลักดันให้มีการยกเลิกนำเข้าแร่ใยหินยังไม่เป็นที่ตื่นตัวมากนักและมีทีท่าว่า การขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกนำเข้าแร่ใยหินยังต้องเดินหน้าต่อไป แต่หากทุกภาคส่วนต่างร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง คงทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเริ่มรับรู้และเห็นความสำคัญถึงผลกระทบและอันตรายที่ไม่สามารถมองเห็นได้ของแร่ใยหินมากขึ้น
Thank : thaihealth.or.th
...........................................................................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น