ข้อมูลจากกลุ่มสำรวจทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชาย ฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง อธิบายว่าแมงกะพรุน (Jellyfish) จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังลักษณะลำตัวใสและนิ่ม มีรูปร่างคล้ายร่มหรือระฆังคว่ำเรียกว่า "Medusa" ด้านบนมีลักษณะนูน มีปากอยู่ตรงกลางลำตัว บริเวณรอบปากมีส่วนที่ห้อยยื่นเป็นพู จำนวนสี่พูในลักษณะสมมาตร มีทางเดินอาหารและกระเพาะอาหาร มีน้ำเป็นองค์ประกอบของร่างกายมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสมองแต่มีระบบประสาท เส้นประสาทต่อกันเป็นร่างแหตามลำตัวและหนวดเพื่อรับสัมผัสและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม
แมงกะพรุนเคลื่อนที่โดยการยืดหดกล้ามเนื้อด้าน ในและด้านนอกสลับกัน สามารถว่ายน้ำได้ แต่ส่วนใหญ่จะดำรงชีวิตโดยลอยตามกระแสน้ำแมงกะพรุนทุกชนิดมีเซลล์ที่เรียกว่า Cnidocyte ที่มีเข็มพิษ (Nematocyst) แต่จะมีระดับความเข้มของพิษที่แตกต่างกันไป
แมงกะพรุนโดยทั่วไปมีประมาณ 250 ชนิด แต่ละชนิดมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกัน รวมถึงสีสันพวกที่มีขนาดเล็กมักมีสีสดและเข้ม เช่น สีชมพู ม่วง เขียวหรือใส ส่วนพวกที่มีขนาดใหญ่มักมีสีฟ้า น้ำตาล หรือขาวขุ่น พบเห็นได้โดยทั่วไปบริเวณชายฝั่งทะเลและท้องทะเล โดยเฉพาะจะพบมากในเขตอบอุ่นและเขตร้อน ส่วนชนิดที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ เช่น แมงกะพรุนหนัง แมงกะพรุนหอม แมงกะพรุนลอดช่อง พบในประเทศไทยและเขตน้ำตื้นเขตร้อนทั่วไป
ส่วนชนิดที่มีพิษร้ายแรงก็เช่น แมงกะพรุนไฟ แมงกะพรุนสาหร่าย เป็นต้น แมงกะพรุนไฟ สายพันธุ์ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก คือ Portuguese man-of-war (แมงกะพรุนปอร์ตุกีส แมนออฟวอร์) ตัวนี้มีร่มลักษณะคล้ายหมวกทหารเรือโปรตุเกสลอยอยู่บนน้ำ หนวดเป็นสายยาว อีกชนิดที่อันตรายมาก เรียกว่า "Box Jellyfish" (แมงกะพรุนกล่อง) ตัวนี้มีหนวดอยู่ตามมุมทั้งสี่ พิษของแมงกะพรุนทั้ง 2 ชนิดนี้ทำให้ผู้ถูกพิษเสียชีวิตได้โดยที่พิษในแมงกะพรุนเป็นกลุ่มสารที่มีความซับซ้อนและสามารถทำให้เกิดโรคในมนุษย์
สารพิษเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อหลายระบบ เช่น พิษต่อหัวใจพิษต่อประสาท พิษต่อผิวหนังทำให้เกิดการเน่าตาย พิษต่อกล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อลาย พิษสลายเม็ดเลือดแดง พิษต่อเซลล์ เป็นต้นอาการที่เกิดขึ้นตอนที่ถูกเข็มพิษคือทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อน ตกเลือด เกิดอาการชา รวมไปถึงอาการปวดท้องจุกเสียด แน่นหน้าอกและเป็นไข้ บางรายอาจมีอาการท้องร่วง ขณะที่บริเวณที่ถูกเข็มพิษมักเป็นรอยแผลไหม้ อาจทำให้เกิดอาการอักเสบหรือติดเชื้อ ในรายที่ถูกพิษมากและเป็นชนิดที่ร้ายแรงจะมีอาการชักจนหมดสติอาจถึงตายได้ หรือบางรายอาจมีอาการเสียงแหบแห้งหลายวัน
วิธีการแก้พิษแมงกะพรุนเบื้องต้น ควรรีบนำผู้ป่วยขึ้นจากน้ำทะเลโดยเร็ว ปฐมพยาบาลก่อนส่งแพทย์หากอาการรุนแรงโดยเอาน้ำทะเลล้างบาดแผล เพื่อให้ชะล้างเอาพวกพิษออก บางครั้งมีหนวดแมงกะพรุนขาดติดมากับผิวหนัง อย่าใช้มือเปล่าหยิบออกเด็ดขาดเพราะจะทำให้พิษแพร่กระจายเร็วขึ้นในประเทศไทย ภูมิปัญญาผู้คนท้องถิ่นชายฝั่งทะเลบอกว่า ผักบุ้งทะเลสามารถรักษาพิษของแมงกะพรุนได้ โดยนำใบผักบุ้งทะเลมาตำหรือขยี้ให้ละเอียด พอกบริเวณที่โดนพิษของแมงกะพรุน จะช่วยลดอาการปวดและการอักเสบได้
สำหรับการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนพิษของแมงกะพรุน ควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำ หลังจากมีฝนตกในบริเวณหรือเวลาที่มีแมงกะพรุนชุกชุม หากต้องการลงเล่นน้ำในบริเวณที่คาดว่าอาจมีแมงกะพรุน ควรป้องกันด้วยการสวมเสื้อผ้ามิดชิด และเมื่อเดินตามชายหาดหากพบแมงกะพรุนเกยตื้นอย่าไปจับเล่น เพราะอาจโดนเข็มพิษได้ โดยเฉพาะบริเวณหนวดที่อยู่ใต้ร่มของแมงกะพรุน
..........................................................................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น