tororichclub

tororichclub

วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ก้าววิ่งในระดับลมหายใจเดียวกับ มูราคามิ

มี 3 อย่างที่ผมเดา ว่าในขณะนี้ฮารุกิ มูราคามิ กำลังทำอะไรอยู่? 1. ฟังเพลงแจ๊ซ 2. เขียนหนังสือ และ 3. คือซ้อมวิ่ง

          มูราคามิเล่าไว้ใน “When I talk about when I talk about running.” ว่า เขาสนใจการวิ่งพร้อมๆ กับการเริ่มเขียนหนังสือเมื่อตอนอายุ 30 (ปัจจุบันอายุ 63 แต่ยังดูหนุ่มกว่าวัย) การดูแลร่างกายให้ดี ถือเป็นพันธะหน้าที่ของนักเขียน ทำให้เขาเริ่มหันหลังให้การดื่มหนัก อมควัน สู่การวิ่งอย่างจริงจัง


จริงจังประเภทไหนน่ะหรือ… ?
          เขาตั้งใจวิ่งให้ได้วันละ 10 กิโลเมตร 6 วันต่อสัปดาห์ โดยทำความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ Pace 5 หรือ Pace 6 หมายความว่า 6 นาทีวิ่งได้ระยะทางไม่ต่ำกว่า 1 กิโลเมตร  Pace 6 ของมูราคามิคือข้อที่ใช้สะท้อนความแข็งแรง ความมุ่งมั่น ความมีวินัย ผู้ที่สามารถวิ่งบน Pace นี้ได้ยาวนานเท่าที่ตัวเองต้องการถือว่าอึดและแกร่งใช่เล่น เพราะการควบคุมลมหายใจ มวลกล้ามเนื้อ พละกำลังที่จะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างสม่ำเสมอได้ 6 นาทีต่อ 1 กิโลเมตร ทำต่อเนื่องไม่หยุดไปจนถึง 10-15 กิโลเมตรได้ ถือว่ายากสำหรับมือใหม่ คนที่เริ่มหัดวิ่งต้องใช้เวลาเก็บเกี่ยวชั่วโมงการวิ่ง ต่ำๆ ก็ต้องมี 4 เดือนต่อปีถึงจะได้ไปสัมผัส Pace ของมูราคามิได้ตลอดรอดฝั่ง

ผมหยิบหนังสือเล่มนี้ เวอร์ชั่นแปลไทยได้อย่างคมคายโดย ‘นภดล เวชสวัสดิ์’ ไปอ่านยามเย็นที่สวนลุมพินี
           สำหรับผม การวิ่งเป็นกีฬาที่คัลต์มาก ก็เหมือนที่ Finisher 1988 บอกไว้ในรัก 7 ปี ดี 7 หน ว่า “มันเป็นกีฬาที่ผมแอบมาเล่นคนเดียวได้” ตัวละครที่มหาชนหลงใหลและปลุกปั่นให้สังคมไทยปี 2555 นี้ตื่นตัวกับการวิ่ง ชวนให้เราลงมาราธอนอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อเป็นเป้าหมายให้กับตัวเอง มาราธอนกับระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ไกลพอๆ กับเดินทางจากจุฬาฯ สามย่าน ไปธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นึกภาพคนที่วิ่งไม่หยุดสักก้าวราว 4-5 ชั่วโมง มูราคามิอยู่ในวิถีทางแบบนั้น


          ถ้าคุณเป็นนักวิ่งแล้วได้อ่านบทบันทึกของมูราคามิฉบับนี้ คุณจะยิ่งฮึกเหิม...แต่ถ้าคุณเพิ่งสนใจการวิ่งตามสู่ขวัญ-นิชคุณ งานชิ้นนี้จะคอยตอบคำถามคุณว่า “เขาวิ่งกันไปทำไม?”

           ผู้เขียนเล่าเรื่องชีวิตการเป็นนักวิ่ง ซ้อมวิ่ง การเตรียมตัวสู่นิวยอร์กซิตี้มาราธอน รวมถึงภาวะจิตตกของการเบื่อการวิ่ง ชีวิตประจำวันที่หมกมุ่นกับการสับขาล่าเหงื่ออยู่หลายปี งานชิ้นนี้เขียนขึ้นระหว่างปี 2005-2007 เราได้ติดตามมูราคามิไปซ้อมวิ่งที่ฮาวาย บอสตัน ลงวิ่งในสนามใหญ่ในแมนฮัตตัน นี่ยังไม่รวมเส้นทางประวัติศาสตร์ 26 ไมล์ที่เอเธนส์ ที่มูราคามิเคยสะบัดเสื้อทิ้งวิ่งกลางฤดูร้อน เพื่อตามรอยประวัติ-ศาสตร์กีฬามาราธอนยุคกรีกโบราณมาแล้ว

          นอกจากนั้นเขายังเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ก้าวเท้าลงสู่การวิ่งแข่งขันที่ล้อเล่นกับมวลกระดูกและมัดเอ็นในอัตรามาราธอน ที่ต้องวิ่งให้ได้ 100 กิโลเมตรใน1 วัน !?! เขาทำได้ที่ทะเลสาบซาโรมะ ฮอกไกโด ในปี 1996 กดหยุดเวลาไว้ 11 ชั่วโมง 42 นาที กับอีก 16 วินาที พ้นจากการวิ่ง นักเขียนคนโปรดยังกระโจนชีวิตสู่ไตรกีฬา ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน วิ่งทะยานเข้าสู่เส้นชัย เฆี่ยนตีร่างกายให้คายความแข็งแกร่งต่อจิตใจ ซ้ำยังปวารณาตัวที่จะอยู่บนเส้นทางสายนี้ต่อไปจนกว่าจะไม่ไหว ความผูกพันต่อการวิ่งมายาวนาน ยังผลให้

            มูราคามิบอกผู้อ่านว่าที่ป้ายชื่อเหนือหลุมศพเขา ตั้งใจจะสลักข้อความว่า “At least he never walked.” อย่างน้อยที่สุด เขาไม่เคยเดิน

           มูราคามิยังบอกทางสว่างให้คนทำงานเขียน และอาจจะรวมไปถึงคนที่ทำอาชีพต่างๆ ได้บรรลุถึง ‘การถอนพิษร้ายของการงาน’ ที่ต้องทำซ้ำเดิมวันแล้ววันเล่าเป็นแรมเดือน แรมปี หรือแรมชีวิต ท่อนที่ผมคิดถึงมากๆ ระหว่างวิ่งผ่านลานตะวันยิ้มในสวนลุมฯ คือ

            “ผมเห็นพ้องกับมุมมองที่ว่างานเขียนเป็นงานกัดกร่อนชีวิต ในยามที่เราเขียนนวนิยาย เราใช้การเขียนปั้นแต่งเรื่องราวชอบหรือชัง ยาพิษที่ฝังซ่อนอยู่ในหมู่มนุษยชาติลอยฟ่องขึ้นสู่ผิวหน้า นักเขียนทุกคนจักต้องเผชิญหน้ากับสารพิษนั้น ตระหนักถึงภัยอันตราย ค้นหาทางต้านสู้ภัย” (หน้า 86)

          มูราคามิประจักษ์ด้วยตัวเองว่า ‘การถอนพิษร้ายของการงาน’ คือ ‘การวิ่ง’ การก้าวย่างออกไปทรมานร่างกายให้เหงื่อโทรม เป็นทางต้านสู้ภัยเพื่อแลกกับจิตวิญญาณที่ซาบซ่านสดชื่นขึ้น ผมเองก็ทำงานอยู่ในแวดวงของนักคิดนักเขียนมาแล้วหลายรุ่น รุ่นใหญ่ รุ่นกลาง หรือรุ่นน้อง ค้นพบอย่างหนึ่งว่า ตัวหนังสือของคนที่ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ชอบเล่นกีฬา ชอบล่าเหงื่อ ดูแลสุขภาพตัวเองดี ล้วนแล้วแต่เป็นตัวหนังสือที่มีไดนามิก พละกำลังพลุ่งพล่านสิ้นดี มีความกระปรี้กระเปร่าเต้นเร่าอยู่ในที


          อย่างเช่น ตอนที่กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เขียนเรื่องสั้นในชุดหลังๆ เขาบอกกับผู้สัมภาษณ์ว่าตื่นเช้ามาขอไปผ่าฟืน ขุดดิน จับเสียมจับจอบ ทำร่างกายให้เหงื่อชุ่มเสียก่อน ก่อนจะมาประจำที่เครื่องพิมพ์ดีดคู่ใจ

หรืองานของพี่ชายคนสนิท นันทขว้าง สิรสุนทร ขานั้นเตะบอลบ่อย เล่นปีกหรือไม่ก็ยืนแดนกลาง เป็นตัวจี๊ดริมเส้น นันทขว้างเล่นบอลเรียกความกระชุ่มกระชวย ถึงผมไม่ได้นั่งอยู่ร่วมโต๊ะทำงานเดียวกับพี่เกี๊ยงแล้ว ก็รู้ว่างานป๊อปคัลเจอร์ของแกก็ยังมีลีลาท่าทางที่วิ่งตามโลกได้ไม่เหนื่อยหอบ มีความสดใหม่อยู่ในที กีฬา การออกแรง ล่าเหงื่อ หากทำประจำ เป็นทางลัดที่จะสร้างข้อเขียนชั้นเลิศ

            อุทิศ เหมะมูล ช่วงหลังก็ให้สัมภาษณ์ว่า จัด 1 ชั่วโมงต่อวัน ออกกำลังกายต่อเนื่อง ถ้าจำไม่ผิดคือ 9 โมงเช้า-10 โมงเช้า

          นอกจากนี้คอลัมนิสต์ที่ยืนระยะมานานอย่าง วิรัตน์ โตอารีย์มิตร หรือ ‘ปลาอ้วน’ ตกเย็นผมเคยเห็นผ่านสารคดีช่องไทยพีบีเอส เห็นเขาเปลี่ยนผ้าใบไปวิ่งจ็อกกิ้งตัวปลิว ใบหน้าแช่มชื่น

          มูราคามิวิ่งต่อเนื่องมาแล้วมากกว่า 30 ปี พิชิตมาราธอนบ่อยครั้งในเวลาแถวๆ 4 ชั่วโมงนิดๆ เรียกว่า คนหนุ่มกว่าเขาสัก 10 ปี 20 ปี ก็กดสถิตินี้ให้กับตัวเองได้ไม่ง่ายนัก เขาบอกว่าการวิ่งเป็นความซื่อ เป็นอย่างหนึ่งของชีวิตที่ไม่เคยทรยศ หากเราไม่ทอดทิ้งมัน แล้วเราจะเจอศักยภาพที่ร่างกายเราเองก็มีอยู่ภายใน เพียงแต่ระหว่างทางนั้น เราต้องปลุกปั่นบากบั่นใช้แรงกายแรงใจเข้าแลก ทำไปอย่างมีวินัยไม่ยี่หระต่อความเบื่อหน่ายหรือข้ออ้างล้านแปด

          10.5 กิโลเมตรที่สวนลุมฯ ในวันนี้ของผม วิ่งที่ Pace 6 บน Pace นี้เองที่เปิดโอกาสให้เราได้รู้จักและทำความเข้าใจกับจังหวะการหายใจและการก้าวไปของมูราคามิ

Thank : Mthai
...............................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น