tororichclub

tororichclub

วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

หาย 'ไอ' มั่นใจเกินร้อย...


              แม้หลายๆ คนอาจจะหายจากอาการหวัดแล้ว แต่ดูเหมือนอาการไอยังคงติดค้างอยู่ จนบางครั้งกลายเป็นอาการไอแบบเรื้อรัง สร้างความรำคาญให้แก่ตัวเองและคนรอบข้างอยู่บ่อยครั้ง บริษัท ดีคอลเจน จำกัด จึงได้จับมือกับ ผศ.นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จัดเสวนาให้ความรู้ภายใต้หัวข้อ “กำจัดอาการไอ เริ่มชีวิตใหม่ที่สดใสซาบซ่าตั้งแต่ต้นปี” กันซะเลย
              ผศ.นพ.มานพชัย กล่าวว่า ทุกวันนี้คนไทยมีปัญหาเรื่องอาการไอกันมาก เพราะอากาศและมลภาวะทางอากาศที่เลวร้าย รวมถึงการใช้ชีวิตที่สมบุกสมบัน อาการไอนี้นอกจากจะบั่นทอนสุขภาพแล้ว หากปล่อยให้เป็นๆ หายๆ หรือเรื้อรัง จะส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพ ความมั่นใจ ทั้งเสียงไอแบบการมีเสมหะ เป็นสิ่งรบกวนและเป็นที่รังเกียจของคนรอบข้าง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นอุปสรรคท้าทายต่อหนุ่มสาววัยทำงาน ดังนั้น ควรเริ่มต้นเรียนรู้เข้าใจสาเหตุและกลไกการไอ และรักษาดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีกันโดยด่วน
          “อาการไออาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงต้องฉลาดเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับอาการ มิฉะนั้นก็จะไม่หายหรือกลายเป็นอาการเรื้อรัง ลักษณะของการไอบางครั้งช่วยบอกสาเหตุได้ เช่น แบบไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ มักเกิดจากการระคายเคืองมลภาวะต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง แบบที่สองคือไอและแน่นหน้าอก หายใจเร็ว หอบเหนื่อย มักพบในผู้ป่วยในโรคหอบหืด มักต้องใช้ยาขยายหลอดลม โดยช่วยให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัว และแบบที่พบบ่อยมาก คือ ไอมีเสมหะ ลักษณะเสมหะจะช่วยในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้ เช่น ถ้าเสมหะสีเหลือง เขียวข้น มักเกิดจากการติดเชื้อ ถ้าเป็นสีขาวใสมักเป็นอาการไอจากภูมิแพ้หรือหอบหืด” คุณหมอคนเก่ง แจกแจง
             พร้อมกันนี้ คุณหมอมานพ ยังกล่าวถึงความรู้เรื่องการใช้ยาแก้ไอว่า สำหรับคนที่ไอและมีเสมหะร่วมด้วย ควรได้รับยากลุ่มละลายเสมหะ เช่น กลุ่มคาโบซิสเตอีน 500 มิลลิกรัม หรือกลุ่มบรอมเฮกซีน 8 มิลลิกรัม เพื่อลดความเหนียวข้นของเสมหะ ทำให้เสมหะถูกละลายและขับออกมา จะบรรเทารักษาอาการไอดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยซึ่งมีอาการไอแบบมีเสมหะ (แต่ไม่มีเสมหะออกมา) ไม่ควรเลือกรับประทานยากลุ่มที่ระงับหรือกดอาการไอ อย่างที่คนมีอาการไอแบบแห้งๆ ใช้ เพราะยาเหล่านี้แม้จะทำให้อาการไอน้อยลง แต่ไม่ได้ช่วยให้เสมหะลดลง ในทางตรงข้ามจะยิ่งสะสมมากขึ้นในหลอดลม อาจทำให้เกิดหลอดลมอุดตัน และเกิดการติดเชื้อจนกลายเป็นโรคปอดอักเสบรุนแรง
          “ตามปกติแล้วหากรับประทานยาที่ถูกกับโรคและอาการ รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยแวดล้อมที่กระตุ้นการไอและดูแลสุขภาพ นอนหลับพักผ่อน ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ เสมหะจะลดลงภายใน 3-5 วัน อาการไอจะหายไปภายใน 5-7 วัน ทำให้คุณพร้อมที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างสดใส และประสบความสำเร็จอย่างมั่นใจไร้ปัญหาสุขภาพได้ไม่ยาก” ผศ.นพ.มานพชัย กล่าวปิดท้าย

Thank : คมชัดลึก
................................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น