tororichclub

tororichclub

วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มะเร็งเต้านม เสี่ยงได้ทั้ง “ชาย” และหญิง

          เดี๋ยวนี้ผู้หญิงวัยทำงานแม้อายุจะไม่น้อยแต่ถ้าดูแลตัวเองสักนิด ทั้งหน้าตาผิวพรรณก็ดูสดใสไม่แพ้สาวๆได้ทั้งนั้น แต่เรื่องหนึ่งที่จัดเป็น “ความเสี่ยง” เมื่อตัวเลขอายุเริ่มมากขึ้นก็คือเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จะต้องอาศัยการสังเกตอาการผิดปกติเล็กน้อยๆด้วยตนเอง โดยเฉพาะโรคยอดนิยมของหญิงไทยอย่าง “มะเร็งเต้านม” ซึ่งจัดเป็นภัยร้ายที่พบมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง เรียกว่า 1 ใน 9 ของผู้หญิงจะต้องโชคร้ายเป็นโรคนี้หรือเข้าข่ายมีความเสี่ยงที่จะเป็น

          มาดูฝั่งคุณผู้ชาย ซึ่งมีกลุ่มโรคที่มีความเสี่ยงประจำเพศอยู่ไม่น้อย ทำให้คุณผู้ชายส่วนใหญ่มักมองข้ามความเสี่ยงที่จะเป็น “มะเร็งเต้านม” ไป แต่ที่จริงแล้ว ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากทุกคนมีเต้านม โอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมจึงมีสิทธิอย่างเท่าเทียมนั่นเอง!

          รู้อย่างนี้แล้ว เรามาเตรียมตัวป้องกันโรคที่ใครๆก็เป็นได้กันตั้งแต่เนิ่นๆ ดีกว่า ก่อนอื่นมารู้จักอาการของมะเร็งเต้านมกันสักเล็กน้อย อาการของโรคนี้จะแบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ ระยะ 0-4 ตามความรุนแรงของอาการ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคืออาการของมะเร็งเต้านมจะแสดงออกมาไม่เหมือนกัน บางคนจะมีก้อนเนื้อเมื่อสัมผัสจะรู้สึกเจ็บแต่มีบางรายที่ไม่เจ็บ ซึ่งอันตรายมาก ดังนั้นจึงควรตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากพบว่าเป็นจะได้รับการรักษาตั่งแต่แรกเริ่ม เพิ่มโอกาสที่จะหายให้สูงขึ้น


ตรวจยังไง? ตรวจตั้งแต่ตอนไหน?
          อย่างที่หลายคนทราบกันมาบ้าง วิธีการตรวจหามะเร็งเต้านมเบื้องต้นสามารถทำได้ง่ายๆ โดยใช้มือคลำดูบริเวณหน้าอกเป็นประจำทุกเดือน หากพบว่ามีก้อนเนื้อแข็งๆ ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน ส่วนช่วงวัยที่ควรเริ่มหันมาสำรวจตัวเองนั้น คุณหมอบอกว่า เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป ก็ควรเริ่มตรวจด้วยตัวเองได้แล้ว โดยเฉพาะคุณผู้หญิงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจมากที่สุดคือระหว่างวันที่ 8-11 ของรอบเดือน เพราะช่วงนี้เต้านมจะนิ่ม ที่สำคัญคือ ทั้งหญิงและชายควรจะไปตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี จะได้ทำการตรวจเช็คโรคอื่นๆ รวมถึงลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมไปพร้อมๆกัน

ตรวจเองยังไม่มั่นใจ คุณหมอช่วยได้
          สำหรับใครที่ไม่มั่นใจ หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่นประวัติครอบครัวที่มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้หลายคนก็สามารถเดินทางไปรับการตรวจทางการแพทย์ โดยคุณหมอจะใช้ไมโครแกรมร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์ ซึ่งจะทำให้ความแม่นยำสูงกว่าตรวจด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งเพียงอย่างเดียว

          สำหรับผู้ที่จะมารับการตรวจเพื่อไม่ให้ต้องเสียเวลาหรือผลการตรวจคลาดเคลื่อนก็คือ จะต้องไม่ทาโรลออนหรือแป้งใต้รักแร้ เพราะมะเร็งมีสีขาว ถ้าทาแป้งหรือโรลออนจะให้สีคล้ายกับมะเร็ง จึงทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้ เคล็ดไม่ลับป้องกันตัวเองให้ไกลห่างจากมะเร็งเต้านมก็คือ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังการสม่ำเสมอ และตรวจร่างกายเป็นประจำเพราะหากพบในระยะเริ่มแรกก็สามารถรักษาให้หายได้ง่ายเสี่ยงต่อการกลับมาเป็นอีกน้อย

ขอบคุณบทความ ภายใต้ความร่วมมือของวารสารพลังไทย และวิชาการ.คอม
http://www.pttplc.com/TH/Default.aspx
...................................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น