tororichclub

tororichclub

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มั่นใจแล้วหรือ ความสำเร็จของลูกต้อง “เคี่ยวเข็ญ”

          Q. แม่ของหลานบอกว่าสมัยนี้ไม่ควรเร่งเด็กให้อ่าน เขียน แต่ใช้วิธีอ่านนิทานให้ลูกหลานฟังจะดีกว่า เพราะอะไรและดีกว่าอย่างไรค่ะ แต่เพื่อนบ้านเขาบอกว่าไปสอนตอนเข้าเรียนก็ช้าไปแล้ว หลานเขาไปอนุบาลได้ ก-ฮ แล้ว ก็เรียนได้เร็วดีด้วย

          ความเร็วในตอนแรกไม่ได้บอกว่าจะประสบความสำเร็จในตอนหลังครับ ผมอายุมากจะได้เห็นตอนเริ่มต้นและตอนจบของเด็กจำนวนมาก เด็กที่มิได้ถูกเคี่ยวเข็ญให้เรียนในตอนแรกมักประสบความสำเร็จในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเสมอ คำสำคัญคือ “ถูกเคี่ยวเข็ญ”

          ถ้าเด็กคนหนึ่งสนุกสนานกับการคิดเลขเร็วและคิดเลขจำนวนมาก หฤหรรษ์กับการอ่านหรือยินดีปรีดากับการคัดลายมือหรือการเขียน ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ปัญหาคือว่าเขาสนุกจริงหรือเปล่า หรือเป็นเราที่หน้ามืดตามัวตีความเอาเองว่าเขาสบายดีมิได้ถูกเคี่ยวเข็ญ มั่นใจได้อย่างไรว่าเขามิได้ถูกเคี่ยวเข็ญ

          สำหรับเด็กที่ออกอาการว่ากำลังถูกเคี่ยวเข็ญแน่ๆ ก็ขอให้รู้ว่าไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่เราต้องเคี่ยวเข็ญเด็กเล็กให้เรียนหนังสือ เด็กเล็กมีหน้าที่เล่นเพราะการเล่นคือการเรียนรู้ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าคำว่า “การเรียน” นอกจากนี้การเล่นที่ดีคือเล่นเป็นหมู่คณะซึ่งมีความสำคัญมากกว่า “การสอน” มากมาย

          คำสำคัญคือ “เป็นหมู่คณะ” ถ้าเด็กเล็กได้เล่นเป็นหมู่คณะเรื่อยๆ เขาจะได้ทักษะสำคัญสองอย่างที่จะประกันความสำเร็จในอนาคต นั่นคือทักษะการเรียนรู้ (Learning skill) และทักษะชีวิต (life skill)

          ในทางตรงข้ามถ้าเขาเอาแต่เรียน โดยเฉพาะถูกเคี่ยวเข็ญให้เรียน เขาจะได้มาแค่สามวิชาคือ เลขคณิต อ่าน และเขียน แต่ไม่มีทักษะการเรียนรู้และไม่มีทักษะชีวิต เก่งในวันแรกๆ แต่ไม่รอดในวันข้างหน้า

          ทักษะเหล่านี้ปลูกฝังได้ก็เฉพาะตอนที่เป็นเด็กเล็ก อย่างมากก็ไม่เกินสิบขวบ หลังจากนั้นจะปลูกฝังได้น้อยลง เกินสิบขวบแล้วถ้ายังเอาแต่เรียนและเรียนมักจะขาดทักษะการเรียนรู้และทักษะชีวิต

          ขาดทักษะการเรียนรู้ หมายถึงว่า จบมารู้เท่าที่อาจารย์สอน หาต่อเองหรือสังเคราะห์งานไม่ได้ ขาดทักษะชีวิต
           หมายถึงไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ แน่นอนว่าเลขคณิต การอ่าน และการเขียนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ควรดูให้แน่ใจว่าโรงเรียนไม่ได้สอนเรื่องพวกนี้ แต่ “จัดกระบวนการเรียนรู้” เรื่องพวกนี้ให้แก่เด็กเล็กเป็นหมู่คณะอย่างสนุกสนาน

           การได้เรียนรู้เป็นหมู่คณะทำให้เด็กได้ฝึกทักษะการเรียนรู้เพิ่มเติมหลายข้อที่ผมคงเล่าไม่หมดตรงนี้ แต่ที่สำคัญสองข้อแรกคือทักษะการสื่อสาร(Communication skill) และทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (collaboration skill) ลองนึกภาพเด็กที่ได้เล่นในสนามหรือได้เล่นเป็นหมู่คณะตามที่ครูออกแบบจะเห็นว่าเด็กต้องปะทะสังสรรค์กับเพื่อนเยอะมากจากนั้นต้องเจรจาต่อรองและทำงานด้วยกันในที่สุด นี่คือคุณสมบัติที่พวกเขาต้องมีเมื่อจบออกไปทำงาน

          การได้เรียนรู้เป็นหมู่คณะทำให้เด็กได้ฝึกทักษะชีวิตที่สำคัญมากมายซึ่งผมเล่าไม่หมดเช่นกัน แต่ที่สำคัญสองข้อแรกคือทักษะการวางแผนอย่างมีเป้าหมาย(goal-directed planning skill) ลองนึกภาพเด็กมัธยมหกที่ไม่รู้จะเรียนต่ออะไรดี สอบได้แล้วก็สละสิทธิ์ซ้ำๆ เป็นพวกไม่มีทั้งแผนไม่มีทั้งเป้าหมาย อีกข้อคือทักษะความยืดหยุ่น (resiliency) ลองนึกภาพบัณฑิตจบใหม่ที่ไม่มีความยืดหยุ่น ทำงานที่ไหนก็ไม่พ้นสามเดือนปรับตัวไม่ได้ขอเปลี่ยนงาน เราอยากได้ลูกแบบไหน?

Thank : Real – Parenting
....................................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น