tororichclub

tororichclub

วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รู้ทัน ป้องกัน ครรภ์เป็นพิษ


          ผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว ก็จะเริ่มวางแผนครอบครัวขั้นต่อไป ด้วยการมีเจ้าตัวน้อยวิ่งเล่นอยู่ในบ้าน แต่เมื่อตั้งครรภ์คุณแม่ทุกท่านต้องมีแน่ๆ เลยล่ะค่ะ “ความกังวล” กังวลสารพัดอย่าง ลูกของฉันจะแข็งแรงไหม จะฉลาดหรือเปล่า โตขึ้นเค้าจะเป้นเด็กดื้อหรือไม่ ต้องกินอาหารอะไรดี บำรุงมากแค่ไหนถึงจะพอดี แล้วจะคลอดเองได้ไหม จะเกิดรกเกาะต่ำหรือเปล่า แถมยังมีโรคแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ให้ต้องกังวล อีกมากมาย

          วันนี้ ขอแนะนำให้คุณแม่มือใหม่ได้รู้จัก กับภาวะที่เรียกว่า “ ครรภ์เป็นพิษ ” ให้มากขึ้น แหมๆ แค่ฟังชื่อก็น่ากลัวแล้วใช่มั้ยล่ะ คุณแม่ขา…!

มาทำรู้จักกับ “ ครรภ์เป็นพิษ ” กันก่อน

          “ครรภ์เป็นพิษ หรือToxemia” เป็นคำเรียกกลุ่มของอาการ ซึ่งประกอบด้วยภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (Pregnancy Induced Hypertension) และการตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะของคุณแม่ตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยประมาณ ร้อยละ 10 ของหญิงตั้งครรภ์ และเป็นสาเหตุการตายของมารดาเป็นอันดับ 2 รองจากการตกเลือดหลังคลอด

แล้ว ” ครรภ์เป็นพิษ “ เกิดขึ้นได้อย่างไร
          ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชั แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น จากการศึกษาวิจัยพบว่ากลไกในการสร้างสารเคมีที่มีชื่อว่า “พรอสตาแกลนดิน” มีส่วนทำให้ความดันโลหิตสูงผิดปกติ สารพรอสตาแกลนดินบางตัวทำให้หลอดเลือดขยายตัว บางตัวทำให้หลอดเลือดบีบตัว คุณแม่ที่เกิดครรภ์เป็นพิษจะสร้างพรอสตาแกนดินที่ทำให้เส้นเลือดบีบตัวมากกว่า ทำให้แรงดันในหลอดเลือดที่มีความตีบตัวสูงขึ้นมากและเส้นเลือดดังกล่าว ยัง ปล่อยน้ำที่อยู่ในหลอดเลือดให้รั่วซึมออกนอกเส้นเลือดได้ง่ายอีกด้วย 
          นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงการถ่ายทอดทางพันธุกรรม การสร้างฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ที่มากกว่าปกติและปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน ปัจจุบันแพทย์และนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาและวิจัยเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับ สาเหตุของโรคนี้

คุณแม่กลุ่มไหนกันนะ ที่เสี่ยงเป็น “ครรภ์เป็นพิษ”
          เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าคุณแม่ท่านใดที่เสี่ยง แต่อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า ภาวะนี้มักพบในคุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี หรือน้อยกว่า 20 ปี มักพบในการตั้งครรภ์ครั้งแรก มีประวัติภาวะนี้ในครอบครัว เช่น มารดา พี่สาว และน้องสาว การตั้งครรภ์แฝด การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก หรือมีโรคเบาหวานร่วมด้วย คุณแม่ที่เข้าข่ายนี้จึงควรรีบฝากครรภ์และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

อาการผิดปกติของ “ครรภ์เป็นพิษ”
          คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วมากกว่าปกติค่ะ โดยทั่วไปคุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม คุณแม่ที่เป็นโรคนี้ อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 1-2 กิโลกรัม โดยที่ไม่ได้รับประทานอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุที่น้ำหนักขึ้นเกิดจากการบวมน้ำ
          คุณแม่มีอาการบวม โดยให้สังเกตบริเวณหน้าแข้งจะพบว่าเมื่อกดแล้วจะมีรอยบุ๋ม เปลือกตาบวม แหวนที่ใส่คับแน่นขึ้นมากขึ้น
          คุณแม่บางรายจะมีอาการปวดศีรษะ เนื่องจากความดันโลหิตที่สูงขึ้นด้วย
          ถ้าหากมีเลือดออกที่ตับ หรือตับเสื่อมสภาพจะทำให้มีอาการจุกแน่นที่ใต้ชายโครงทางด้านขวา หรือบริเวณลิ้นปี่ คุณแม่บางท่านหายใจลำบากเนื่องจากมีน้ำในปอด บางรายอาจมีอาการตาพร่าลายร่วมด้วย เนื่องจากเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาลดลง 
          ลูกของคุณแม่ เค้าดิ้นน้อยลงและท้องไม่ค่อยโตขึ้นตามอายุครรภ์ ซึ่งเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงมดลูกลดลง

          “ถ้ามีอาการผิดปกติข้างต้น ให้คุณแม่รีบพบแพทย์ทันทีเลยนะคะ อย่ามัวรีรอเป็นอันขาด”.

จะมีผลกระทบต่อคุณแม่อย่างไรบ้าง
          เมื่อหลอดเลือดตีบ แคบ และรั่วง่าย อวัยวะต่างๆ ได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อยลง ไตทำงานลดลงทำให้ประสิทธิภาพในการขับของเสียออกจากร่างการลดลง เกิดการคั่งของของเสีย ปัสสาวะออกน้อยลง หากไม่ได้รับการรักษาไตจะวายได้ ตับจะขาดเลือดไปเลี้ยง อาจพบมีเลือดออกในเยื่อหุ้มตับ มีน้ำคั่งในถุงลมปอด ทำให้หายในลำบาก มีน้ำคั่งใต้ผิวหนังทำให้เกิดอาการบวมที่ปลายมือ ปลายเท้า หน้า และเปลือกตา ในรายที่เป็นมากอาจเกิดอาการชัก มีเลือดออกในสมองและอาจเสียชีวิตได้เลย

ผลกระทบกับลูกน้อยในครรภ์
          เนื่องจากเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณมดลูกลดลง ทำให้เกิดภาวะทารกเติบโตในครรภ์ช้ากว่าปกติได้ ในรายที่เป็นรุนแรงทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้

เมื่อเกิด “ครรภ์เป็นพิษ” ควรทำการรักษาอย่างไร
          การรักษาโรคนี้ดีที่สุดคือ “ทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงหรือการยุติการตั้งครรภ์นั่นเอง” เพราะอาการต่างๆ เกิดจากการตั้งครรภ์ทั้งสิ้น ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ครบกำหนด หรือใกล้ครบกำหนดแล้ว คุณหมอจะตัดสินใจให้คุณแม่คลอดให้เร็วที่สุด ซึ่งหากคุณแม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดแล้วจะพิจารณาให้คลอดทางช่องคลอดก่อน แต่ถ้าหากลูกตัวใหญ่มาก หรือคุณแม่ไม่มีอาการเจ็บท้องเลย คุณหมอจะพิจารณาผ่าตัดคลอด 
          แต่หากโรคนี้เกิดในขณะที่อายุครรภ์ยังน้อยหรือยังไม่ครบกำหนด การรักษาโดยการให้คลอดเลยอาจมีปัญหากับลูกได้เนื่องจากลูกยังตัวเล็กมากมี น้ำหนักน้อย การทำงานของปอดยังไม่ดีพอ ซึ่งเสี่ยงมากที่ลูกอาจเสียชีวิตได้ การรักษาสำหรับคุณแม่กลุ่มนี้จึงต้องการการดูแลจากคุณหมออย่างใกล้ชิด ซึ่งคุณหมอจะพยายามประคับประคองให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยการให้ยาป้องกันการชัก ให้ยาลดความดันโลหิต ให้ยากระตุ้นการทำงานของปอดลูก โดยหวังให้การทำงานของปอดลูกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยกเว้นว่าไม่สามารถประคับประคองให้ตั้งท้องต่อไปได้ เช่น มีความรุนแรงของโรคมากขึ้นจนควบคุมไม่ได้ และจะส่งผลร้ายให้กับคุณแม่และลูกน้อย คุณหมอจะพิจารณาผ่าตัดคลอดทันที

คุณแม่ครรภ์เป็นพิษควรดูแลตัวเองอย่างไร
          คุณแม่ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ต้องได้รับการรักษาเพื่อควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนตั้งครรภ์ และอย่าลืมรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอด้วย
         หากมีน้ำหนักตัวมากเกินไป ควรพยายามลดความอ้วนด้วยการออกกำลังกาย และควบคุมอาหารตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
          เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์แล้ว ควรรีบฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด ควรแจ้งประวัติส่วนตัวอย่างละเอียด ให้แพทย์ทราบเพื่อการวางแผนการดูแลที่ถูกต้อง
          ควรลดอาหารเค็ม ส่วนการใช้ยาขับปัสสาวะ การรับประทานแมกนีเซียม สังกะสี น้ำมันตับปลา และแคลเซียมเสริม ปัจจุบันยังไม่พบประโยชน์ที่ชัดเจนในการป้องกันภาวะนี้
          คุณแม่มือใหม่ทุกๆ คนหากคิดจะมีลูกน้อย แล้วล่ะก็ อย่าลืมที่จะปรึกษาแพทย์ก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อความปลอกภัยทั้งของลูกน้อยและตัวคุณแม่เองด้วย
Thank : Mthai
.............................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น