ช่วงปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารที่กำลังอินเทรนด์สุดๆ มีขนมหวานแบบหนึ่งซึ่งมาแรงสุดๆ คือขนมปังอบราดน้ำผึ้งเคียงกับไอศกรีม และวิปครีม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Honey Toast
ร้านที่นำเทรนด์นี้ออกขายและกลายเป็นที่นิยมเจ้าแรกๆ คือร้าน After You เป็นร้านที่กล้ามากขนาดที่ขายขนมแบบนี้แบบเดียว แต่ก็คิวยาวเหยียด ลูกค้านั่งกันแน่นร้านทั้งวัน กระแสความนิยมพุ่งสูงจน After You ต้องเปิดสาขาใหม่เพิ่มอย่างรวดเร็ว จนหาทำเลกันแทบไม่ทัน
ในขณะที่ร้านกาแฟ ร้านขนม ร้านขนมปัง และร้านอาหารอื่นๆ ต่างก็รีบขยับตัวตามเทรนด์นี้กันอย่างเร่งด่วน โดยเพิ่มเมนูขนม Toast แบบนี้กันถ้วนหน้า และผมขอเรียกการเกิดเป็นปรากฏการณ์ของขนมหวานแบบนี้ว่า Thai Toast Trend
หากจะย้อนถึงกำเนิดของตัวสินค้าหลัก Honey Toast นั้น แน่นอนว่าวัฒนธรรมการกินขนมปัง ครีม และไอศกรีม เกิดจากชาติตะวันตก แต่ศิลปะในการ Mix & Match แบบราดน้ำผึ้ง ใส่วิปครีมและไอศกรีมในรูปแบบนี้ กลับเริ่มฮิตมากมาจากญี่ปุ่น ในชื่อว่า Shibuya Honey Toast จากนั้นก็เข้ามาในไทยโดยมีร้านแรกๆ คือ After You ที่สาวเจ้าของร้านไปเที่ยวแล้วได้ลองกินจนเกิดแรงบันดาลใจมาเปิดร้านในไทยบ้างเมื่อราว 2 ปีที่แล้ว
> ข้อแรกน่าจะเป็น เทรนด์การเดินห้างกันมากขึ้นและมากขึ้น
โดยระบบห้างในไทยได้ขยายและปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ เพราะกลัวคนเดินจะเบื่อ ตอนนี้เรามีกระแส Community Mall หรือศูนย์การค้าขนาดกะทัดรัดใกล้บ้าน เรียกว่ามีคุณสมบัติ ‘เล็ก หรู ดูดี ใกล้บ้าน’ อาจจะไม่ต้องเป็นห้างฯ หรือศูนย์ฯ ที่ชื่อดังมาก่อน แต่สามารถสร้างขึ้นใหม่ กระจายตัวออกไปตามชานเมือง เพื่อให้ใกล้กับแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ที่อยู่ไกลออกไป และดักลูกค้าที่ไม่อยากจะขับรถไกลๆ เพื่อเข้ามาเดินห้างกลางเมือง
เทรนด์ห้างแบบใหม่นั้นทำให้เกิดพื้นที่ใหม่ๆ ที่เหมาะกับร้านอาหารระดับ B ขึ้นไป โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเครือข่ายแบรนด์ดังอย่าง MK, Fuji, Starbucks ร้านอาหารใหม่เกิดขึ้นง่ายกว่า มีลูกค้าสนับสนุนที่คุ้นเคยเพราะใกล้บ้าน ราคาถูกกว่า รสชาติถูกปากกว่า จากเดิมที่ร้านเหล่านี้ยากจะเกิดขึ้นได้ เพราะไม่สามารถแทรกตัวไปชิงพื้นที่จากร้านดังๆ ในห้างใหญ่ๆ ได้เลย
ในกรณีของร้าน After You ก็มีจุดเริ่มต้นเช่นนี้ After You จุดกระแส Honey Toast ได้สำเร็จตั้งแต่เปิดสาขาแรกอยู่ในบริเวณของ J-Avenue Community Mall เล็กๆ ในซอยทองหล่อ แล้วต่อมาก็สานต่อความสำเร็จอย่างต่อเนื่องด้วยการเปิดสาขาสองไว้ที่ La Villa ซึ่งเป็น Community Mall เล็กๆ ติดสถานีรถไฟฟ้า ตรงข้ามซอยอารีย์
การที่ร้านได้เปิดเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคระดับ B ขึ้นไปในห้างหรือศูนย์การค้าแบบใหม่เหล่านี้ ทำให้แม้ราคามื้อขนมจะไปถึงหลักร้อย แต่ลูกค้าก็ยังยินดีจ่ายและยินดีเข้าคิวรอ
> ปัจจัยความสำเร็จประการที่สอง
มาจากลักษณะของกลุ่มลูกค้าที่เป็นฐานสำคัญ ขนมแบบนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนหนุ่มสาวและวัยรุ่น ซึ่งชอบทดลองของใหม่ ชอบการ Mix & Match เมนูอาหาร ขนมใหม่ๆ และพร้อมเปิดรับร้านขนม ร้านอาหารแบรนด์ใหม่ๆ ต่างจากกลุ่มที่อายุมากกว่านี้แบบวัยทำงาน วัยกลางคนขึ้นไป หรือกลุ่มลูกค้าที่มากันเป็นครอบครัวใหญ่ เหมือนกับลูกค้าร้านสุกี้หรืออาหารญี่ปุ่น ที่มักจะเลือกร้านที่ไว้ใจและคุ้นเคยมานานมากกว่า
> ปัจจัยความสำเร็จประการที่สาม
มาจากรูปแบบการตลาดแบบใหม่ล่าสุด ที่เกิดจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว คนหนุ่มสาวและเด็กวัยรุ่นในปัจจุบัน นอกจากจะมาอุดหนุนอาหารหรือขนมในร้านแล้ว ยังใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ ในการบอกต่อให้กับเพื่อนๆ พวกเขาต้องยกมือถือมาถ่ายภาพแล้วแชร์ขึ้น Facebook, Instagram, Twitter ให้เพื่อนๆ มา Comment มา Like ก่อน แล้วถึงจะกินได้อย่างสบายใจ
นั่นทำให้ร้านใหม่ๆ ที่ Mix & Match ได้โดนใจเป๊ะๆ สามารถแจ้งเกิดและดังได้โดยไม่ต้องลงทุนซื้อโฆษณาเลย
ในมุมนักการตลาดสมัยใหม่ก็เรียกว่าเกิด ‘Viral Marketing’ หรือ ‘การตลาดบอกต่อ’ ผ่าน ‘Word of Mouth’ และ ‘Review’ ทั้งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ รวมถึงเว็บและแอพฯ แนะนำร้านอาหาร
> ปัจจัยความสำเร็จประการที่สี่
อยู่ที่คำว่า ‘Shibuya’ ในชื่อของขนม ที่ฟังดูเย้ายวนใจ เทรนดี้ และแปลกใหม่ ทำให้เมนูขนมปังอบกรอบราดน้ำผึ้ง โปะไอศกรีม และวิปครีม มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมา เพราะมี Story มาสนับสนุน ว่าเป็นขนมที่ฮิตกันมากในหมู่หนุ่มสาวญี่ปุ่น เป็นสูตรขนมที่มาจากย่านชิบูย่า กินแล้วก็เกิดความดีใจเล็กๆ ว่าไม่ต้องไปถึงญี่ปุ่นก็กิน Shibuya Honey Toast ได้
แน่นอนว่าถ้าหากตั้งชื่อเมนูแบบไทยๆ หรือใช้ภาษาอังกฤษธรรมดาๆ ไม่ได้บอกที่มาที่ไป ก็คงไม่สามารถตั้งราคาได้เท่านี้ และไม่มีลูกค้ามากเท่านี้
> และมาถึงปัจจัยความสำเร็จประการที่ห้า
ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายที่ไม่อาจมองข้ามก็คือ ‘คิวยาว Marketing’ !
หลายปีนี้ไม่อาจปฏิเสธว่า การมีคิวยาวอยู่หน้าร้านนั้น นอกจากจะดึงดูดให้คนสนใจเข้ามามุงดูว่าขายอะไรแล้ว ยังมีโอกาสสูงที่จะได้ถูกบอกต่อและแชร์กัน (อีกแล้ว!) ใน Facebook, Instagram, Twitter และดีไม่ดีก็ได้เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร จนเจ้าของร้านถูกสัมภาษณ์ลงฟรีๆ ก็มีให้เห็นกันบ่อยๆ
ปรากฏการณ์ ‘คิวยาว’ ในวันแรกๆ ที่เปิดร้านหรือเปิดขายสินค้าต่างๆ นั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงและฉงนสงสัยกัน ว่าคนเหล่านั้นเป็นลูกค้าจริงๆ หรือเป็นเพียงเทคนิคสร้างภาพ ‘คิวยาว Marketing’ กันแน่ ?
คิวยาวๆ ให้ผลทางจิตวิทยาไม่ต่างไปจากปรากฏการณ์ ‘ไทยมุง’ เมื่อเกิดการมุงอะไร ที่ไหน เมื่อไร เราจะเดินเข้าไปร่วมด้วยความอยากรู้อยากเห็น อาจจะชะโงกเข้าไปดูสักครู่ แล้วก็เดินจากมา แต่นั่นก็เท่ากับว่าเราได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของไทยมุงแล้ว และคนอย่างเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนอื่นๆ สนใจ และเดินเข้ามามุงต่อๆ กันไป
ในโลกของการตลาดยุคใหม่ คิวยาวในร้านและหน้าร้าน ไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนความล้มเหลวในการให้บริการ หรือระบบสายพานการผลิต แต่คิวยาวกลับกลายเป็นสิ่งดี มันช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาสนใจ และเพิ่มโอกาสที่จะตัดสินใจทดลองซื้อสินค้าไปใช้ แล้วในที่สุด ก็จะกลายเป็นลูกค้าที่มีความจงรักภักดีได้ในเวลาต่อมา
ใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกว่านี่ช่างเป็นธุรกิจที่น่าสนใจสุดๆ ก็อย่าลืมหยุดคิดด้วยว่าตอนนี้มีคู่แข่ง ขนมแนวขนมปังปิ้งต่างๆ ผุดขึ้นมาทุกหนแห่งแล้ว ทั้งร้านขนมรายใหม่ๆ ร้านขนมรายเก่าๆ ที่ต้องออกเมนูนี้บ้าง ร้านกาแฟต่างๆ ก็เพิ่มเมนูนี้เข้าไป
แม้แต่ในร้านอาหารญี่ปุ่นดังๆ แทบทุกรายก็ใส่เมนูนี้เข้าไปกันหมดแล้ว ใครที่เข้าไปกินอาหารมื้อหลักในร้านพวกนี้ ก็สามารถสั่งขนมชนิดนี้ปิดท้ายมื้ออาหารได้ โดยไม่ต้องออกมาหาร้านขนมข้างนอกเลย
อย่างไรก็ตาม ตลาดนี้ก็ยังมีที่ว่างอยู่ในบางทำเล โดยเฉพาะจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ
> ท้ายที่สุดแล้ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความอร่อยและคุณภาพก็ยังสำคัญที่สุดเสมอ สำคัญกว่าทุกปัจจัยที่บอกไป และจะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวในระยะยาว ซึ่งความอร่อยและคุณภาพที่ว่านี้ ต้องหมายถึงในทุกจาน ทุกถ้วย ทุกสาขา ทุกวัน และทุกเวลา
น่าสนใจว่ากระแส Thai Toast Trend นี้จะขายดีได้นานแค่ไหน เทียบกับกระแสรุ่นพี่ก่อนๆ นี้ที่มาแล้วก็เหมือนจะจางไปในไม่นาน อย่างชานมไข่มุก โรตีบอย และล่าสุดก่อนหน้านี้เพียง 1 ปี คือโดนัทคริสปี้ครีม และอื่นๆ อีกหลายอย่างที่เราอาจจะลืมกันไปแล้ว
Thank : Mthai
..............................................................................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น