tororichclub

tororichclub

วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

“ฟังไม่เป็น” ปัญหาใหญ่ชีวิตคู่




         การได้แบ่งปันทุกข์และสุขของคนที่ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นสิ่งที่คนรักกันทุกคู่ปรารถนา แต่ปัญหาก็มักเกิดขึ้นได้ง่ายๆ หากคนที่คุณเลือกมาเป็นคู่ชีวิตนั้น “ฟังไม่เป็น” เพราะทันทีที่คุณเริ่มพูด เพื่อจะเล่าถึงเรื่องราวที่ดีสุดๆ ที่เกิดขึ้นกับคุณ และอยากจะให้เขาร่วมยินดีกับคุณด้วย อีกฝ่ายกลับทำเป็นไม่สนใจ หรือทำท่าฟังแบบเสียไม่ได้ ความรู้สึกดีๆ ที่อยากจะแบ่งปันให้คนรักร่วมยินดีด้วยย่อมเหือดหายไปในพริบตา แถมยังอาจทำให้คุณและคู่ครองต้องมีปากเสียงกันด้วย

       
       ดังนั้น การเป็นผู้ฟังที่ดีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการใช้ชีวิตร่วมกัน ยิ่งคู่สามีภรรยาที่มีเจ้าตัวเล็กแล้ว ยิ่งจำเป็นมากขึ้นเป็นสองเท่า เพราะคุณจะมีเรื่องให้ปรับทุกข์ปรับสุขกันเพิ่มมากขึ้นจากสมัยที่อยู่กันเพียง 2 คนมากมายนัก วันนี้ เราจึงรวบรวมวิธีเวิร์กๆ ในการเป็นผู้ฟังที่ดีมาฝากกัน เริ่มจาก
       
       1.จะฟังให้ได้ดีต้องปิดสิ่งรบกวนทั้งหลาย       
       บางทีในบ้านอาจมีสิ่งรบกวนมากเกินไป ดังนั้น หากต้องการปรับทุกข์ หรือพูดคุยในสิ่งที่เป็นปัญหาระหว่างกัน ควรปิดสิ่งรบกวนการสนทนา เช่น ทีวี วิทยุ เครื่องเล่นซีดี โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ฯลฯ เสีย การไม่มีเสียงรบกวนในขณะสนทนา จะช่วยให้คู่สนทนาไม่วอกแวก และหันมาสนใจในเรื่องราวที่จะเล่ามากขึ้น
       
       2.ไม่ทำตัวเป็นผู้พิพากษา       
       ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีหลายคนที่ติดนิสัยผู้พิพากษามาใช้กับคนในครอบครัว คนเหล่านี้พร้อมที่จะตัดสินลงโทษคนผิดคนถูกทันทีที่ได้ฟังเรื่องราว แต่สำหรับชีวิตคู่ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะฝ่ายที่ตัดสินใจนำเรื่องทุกข์ใจมาเล่าให้คุณฟัง บางครั้งเขาอาจแค่ต้องการระบาย ต้องการคนที่่ช่วยแบ่งเบาความทุกข์ ความอึดอัดคับข้องใจ แต่ทันทีที่คุณหันไปตัดสินว่าเรื่องที่เขาเล่าให้ฟังนั้น มัน “ถูกหรือผิด” “ไร้สาระหรือมีสาระ” และต่อว่าในตัวผู้เล่า นั่นเท่ากับว่า คุณทำลายความไว้ใจของอีกฝ่ายลงไปแล้ว อีกทั้งยังทำให้เขาหรือเธอขยาดที่จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้คุณฟังในครั้งต่อไปด้วย
       
       การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว ไม่ได้ต้องการผู้พิพากษา แต่ต้องการคนที่เปิดใจกว้าง พร้อมจะเข้าใจ เห็นใจ และไม่ซ้ำเติมกันจนเกินไป
       
       3.ไม่เห็นด้วยได้ แต่ทำอย่างมีน้ำใจ       
       การเคารพความเห็นของกันและกันเป็นสิ่งจำเป็น แม้ว่าเรื่องที่เขาหรือเธอเล่า คุณจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า คุณเป็นคนรักกัน ไม่ใช่ศัตรูกัน ดังนั้น เมื่อรับฟังแล้ว และต้องการจะเสนอความคิดของตนเองออกไปก็ควรทำอย่างนุ่มนวล ไม่ใช่ไปหักหาญน้ำใจอีกฝ่ายจนเกิดความเจ็บปวด
       
       4.อย่าเสียมารยาทล้อเลียนผู้พูด       
       ระหว่างที่อีกฝ่ายกำลังเล่าอยู่นั้น การพยายามทำให้เป็นเรื่องขำ การล้อเลียน หรือการทำเป็นเล่นไปเสียหมด เป็นสิ่งที่เสียมารยาทอย่างมาก และอาจทำให้ผู้เล่ารู้สึกแย่ที่ตัดสินใจมาเล่าให้คุณฟัง ซึ่งนั่นหมายถึงสัมพันธภาพระหว่างคู่รักที่อาจจะพังลงได้ในอนาคตเลยทีเดียว
       
       5.จำกัดจำนวนคน       
       นึกภาพการปรึกษาปัญหาชีวิตในครอบครัวใหญ่สัก 10 คนร่วมรับฟัง รับรองเลยว่า ปัญหาที่คุณอยากเล่าจะไม่ได้เล่า เรื่องที่คุณอยากระบายจะไม่ได้ระบาย เพราะวงสนทนาที่ใหญ่ขนาดนั้น แต่ละคนที่ร่วมสนทนาด้วยย่อมอยากแสดงความคิดเห็นของตนเองจนสุดท้ายปัญหาของคุณจะไม่มีใครฟัง และจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่ามันเรื่องอะไร ดังนั้น ควรเลือกเฉพาะคนที่คุณไว้ใจจริงๆ หรือคนที่คุณอยากเล่าให้ฟังจริงๆ ก็พอ
       
       6.เตรียมรับมือกับการโต้เถียง       
       บางครั้งเมื่อต้องปรับทุกข์กันเรื่องปัญหาในบ้าน บ้างก็เรื่องเลี้ยงลูก คู่แต่งงานอาจหลีกเลี่ยงการโต้เถียงได้ยาก ดังนั้น จึงควรเตรียมใจให้พร้อมด้วย ซึ่งการจะรับมือนั้น ไม่ควรใช้วิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้
       
       - การประชด
       - การใช้คำหยาบ การถากถางเหน็บแนม
       - การตะคอกด้วยเสียงอันดัง
       - การขุดเรื่องในอดีตขึ้นมาผสมโรง
       
       ถ้ารู้สึกอารมณ์ไม่ดี จะพักการสนทนาก่อนก็ได้ ไม่ผิดกติกา และอีกฝ่ายก็ไม่ต้องเซ้าซี้ให้เขากลับมาพูดด้วยให้จบ ไว้อารมณ์เย็นลงจะกลับมาคุยกันใหม่อีกรอบก็ยังไม่สาย ดีกว่าทุ่มเถียงกันจนเสียน้ำตา เสียความรู้สึก
       
       7.ใช้ภาษากายช่วยในการรับฟัง       
       การกอด การสบตาผู้พูด การโอบไหล่ การลูบหัว การปรบมือ การยิ้ม หัวเราะ ฯลฯ เป็นสิ่งที่คนรักกันสามารถทำให้กันได้ในขณะที่อีกฝ่ายกำลังเล่า และนั่นช่วยให้การสนทนาเป็นไปอย่างออกรสมากขึ้นด้วย
       
       8.คิดเสมอว่า เราจะช่วยเขาได้อย่างไร       
       ในการเป็นผู้ฟังที่ดีนั้น ความรู้สึกในการอยากทำให้อีกฝ่ายมีความสุขเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันจะส่งผลถึงการแสดงออกของคุณต่อเขาหรือเธอ คุณจะเป็นผู้ฟังที่ทำให้ผู้พูดรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันหรือไม่อยู่ที่ว่าคุณตระหนักในเรื่องนี้หรือไม่ บางเวลาคุณไม่จำเป็นต้องแนะนำอะไรเลย แค่นั่งรับฟังความทุกข์-สุขเหล่านั้น และอยู่ข้างๆ ก็พอแล้ว
       
       ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขาดทักษะในการฟังเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสมีปัญหา อีกทั้งการยังไม่ทันฟังให้ดีพอก็รีบตัดสินพิพากษาคนรักของตัวเองนั้นเป็นพฤติกรรมที่โง่มาก เพราะเท่ากับคุณผลักให้เขาหรือเธอกลายเป็นคนที่อยู่คนละข้างกับคุณได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น มาลองฝึกทักษะการเป็นผู้ฟังที่ดี และใช้ทักษะนั้นร่วมแบ่งปันทุกข์-สุขกับคนที่รักดีกว่า

Thank : Manager online
................................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น