วันที่ 31 ม.ค. นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยถึงข่าวการจับยาเสียสาว จีเอชบี ที่กำลังแพร่ระบาดในสถานบันเทิงจังหวัดเชียงใหม่ ว่า จีเอชบี (GHB หรือ Gamma-hydroxybutyrate) ในยุโรปรู้จักกันในชื่อ Gamma-OH ในอเมริกาเรียกว่า GHB ไม่มีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทั้งนี้ ในอดีตในต่างประเทศมีการใช้ จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ทางการแพทย์ใช้เป็นยาสลบ ยานอนหลับ ยารักษาภาวะง่วงหลับ ใช้สำหรับช่วยในการคลอด ตลอดจนใช้รักษาผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง นอกจากนี้ยังพบว่าได้มีการนำไปใช้เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เนื่องจากมีฤทธิ์ในการกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญเติบโต (growth hormone) และกระตุ้นกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนของร่างกาย ภายหลังการใช้ยานี้แล้วทำให้ผู้ใช้มีความรู้สึกสบาย เกิดภาวะคล้ายผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ จึงทำให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด
นพ.บุญชัย กล่าวว่า จากข้อมูลการใช้ยาในทางที่ผิดในต่างประเทศ พบว่ามีการนำจีเอชบีมาใช้ทดแทน ยาอี หรือ เอ็กซ์ตาซี่ เนื่องจากมีฤทธิ์ที่คล้ายคลึงกัน อาการอันไม่พึงประสงค์ ได้แก่ อาการ ง่วงนอน มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เคลื่อนไหวลำบาก แต่ในขนาดยาที่สูงมากอาจทำให้เกิดการกดการทำงานของหัวใจ กดการหายใจ ชักและหมดสติ การใช้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ใช้ในขนาดที่สูงมาก หรือใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์และยากดประสาทชนิดอื่น ๆ จะทำให้เกิดการชัก หมดสติ ถึงเสียชีวิตได้ จากการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยการนำไปมอมสาวเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ อย.จึงได้ประกาศกำหนดให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 ห้ามใช้ทุกกรณี รวมทั้งในทางการแพทย์ ผู้ผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท - 400,000 บาท ผู้เสพ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี - 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท - 100,000 บาท ขณะนี้ อย.เวียนแจ้งขอความร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและกรมศุลกากรในการเฝ้าระวังแล้ว
“เนื่องจากจีเอชบี ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่สามารถสังเกตหรือดมได้ ดังนั้นจึงขอเตือนให้ระมัดระวัง โดยเฉพาะหญิงสาวที่ไปเที่ยวตามสถานบันเทิงต่างๆ โดยยึดหลัก 7 ไม่ คือ
1.ไม่ไปร่วมงานคนเดียว ควรมีเพื่อนที่ไว้ใจได้ไปด้วย
2.ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หากต้องดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ให้ดื่มพอประมาณ เพื่อให้มีสติอยู่ตลอดเวลา
3.ไม่รับเครื่องดื่มจากคนที่เราไม่รู้จักดีหรือไม่สามารถเชื่อใจได้
4.ไม่ดื่มอย่างรวดเร็ว เพราะหากเครื่องดื่มถูกใส่ยาลงไปจะได้มีเวลาที่จะระวังตัวได้ทัน
5.ไม่ดื่มเครื่องดื่มแก้วเดียวกับผู้อื่น
6.ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่อยู่ในภาชนะที่มีปากกว้าง เช่น อ่างใส่พันช์ เพราะง่ายต่อการถูกใส่ยาหรืออาจถูกใส่ยาไปแล้ว และ
7.ไม่ควรละสายตาจากเครื่องดื่มของตน หากต้องเข้าห้องน้ำหรือออกไปเต้นรำ กลับมาแล้วควรเปลี่ยนแก้วใหม่ทันที ควรสังเกตภาชนะบรรจุว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่มีร่องรอยเจาะหรือรอยปิดด้วยเทปหรือผ่านการเปิดฝามาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือน้ำอัดลม และเมื่อดื่มเครื่องดื่มแล้วพบว่ารสหรือกลิ่นของเครื่องดื่มเปลี่ยนไป ควรหลีกเลี่ยงการดื่มต่อ และเมื่อดื่มแล้วมีอาการแปลกๆ หรือรู้สึกเมาหลังจากดื่มไปได้เพียงเล็กน้อย ให้รีบขอความช่วยเหลือจากเพื่อนที่ไว้ใจ ปฏิเสธความช่วยเหลือจากคนแปลกหน้า เพราะอาจจะเป็นคนที่ลอบวางยาได้”นพ.บุญชัย กล่าว
Thank : มติชนออนไลน์
...........................................................................................