หากพูดถึง “ชะอม” เชื่อว่าคงเป็นผักที่หลาย ๆ ครัวเรือนนิยมรับประทานกัน ทั้งในแบบสดจิ้มกับน้ำพริก และนำมาประกอบอาหารรับประทานหลากหลายเมนู ซึ่งนอกจากความหอมอร่อยที่ติดใจใครหลายคนแล้วชะอมยังมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เคล็ดลับสุขภาพดีวันนี้มีเกร็ดความรู้ และคุณประโยชน์ของชะอมมาฝากผู้ที่ชื่นชอบรับประทานชะอมกันด้วย
ลักษณะของต้นชะอม เป็นไม้พุ่มขนาดย่อม ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม ใบมีสีเขียวขนาดเล็ก มีก้านใบแยกเป็นใบอยู่ 2 ทาง ลักษณะคล้ายใบกระถิน หรือใบส้มป่อย ใบเรียงสลับกัน ใบย่อยออกตรงข้ามกัน ใบย่อยรูปรีมีประมาณ 13-28 คู่ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม โดยใบจะหุบในเวลาเย็นและแผ่ออกรับแสงแดดในเวลากลางวัน ใบอ่อนจะมีกลิ่นฉุนคล้ายกลิ่นลูกสะตอ ส่วนดอกมีขนาดเล็ก ออกที่ซอกใบ มีสีขาวหรือขาวนวล ซึ่งจะเห็นเกสรตัวผู้มีลักษณะเป็นเส้นฝอย ๆ ได้ชัด ผลออกเป็นฝักและมีขนาดเล็กกว่าฝักกระถิน เป็นพรรณไม้ที่ปลูกง่ายและสามารถปลูกได้ทุกจังหวัดของประเทศไทย ขยายพันธุ์ได้โดยการตอนหรือปักชำ โดยชะอมจะออกยอดได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะออกมาก
วิธีการนำชะอมมาปรุงเป็นอาหารทำได้หลากหลาย ได้แก่ รับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก โดยการลวกหรือนึ่งให้สุก หรือใช้ยอดอ่อน ใบอ่อน เด็ดเป็นชิ้นสั้น ๆ แล้วชุบกับไข่ นำไปทอดรับประทานกับน้ำพริกกะปิ หรือนำไปใส่ในแกงส้ม ชาวเหนือนิยมรับประทานกับส้มตำมะม่วง ตำส้มโอ หรือนำไปทำเป็นแกงแค แกงลาว เป็นต้น ส่วนชาวอีสานมักนำไปต้มเป็นอ่อมหรือแกงกับปลา ไก่ เนื้อ กบ หรือเขียด
ชะอมเป็นผักที่มีสรรพคุณทางยา เพราะในชะอมประกอบไปด้วยสารอาหารมากมาย อาทิ เส้นใย แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 อีกทั้ง ใบอ่อนของชะอมยังสามารถช่วยลดความร้อนในร่างกาย ส่วนรากหากนำมาต้มจะช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ กรด จุกเสียดแน่นท้องและขับลมในกระเพาะอาหาร ข้อควรระวังในการรับประทานชะอมคือ ผักชะอมในช่วงหน้าฝน จะมีรสเปรี้ยว กลิ่นฉุน บางครั้งหากรับประทานเข้าไปอาจทำให้ปวดท้องและสำหรับคุณแม่ลูกอ่อนไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้น้ำนมแห้งได้
ถึงแม้ชะอมจะเป็นผักที่มีกลิ่นแรงไปนิด แต่เมื่อได้ลิ้มรสและได้รู้ถึงคุณประโยชน์มากมายของชะอมแล้ว รับรองได้เลยว่าเรื่องกลิ่นกลายเป็นเรื่องเล็กนิดเดียวไปเลย
Thank : toptenthailand
................Toro Richclub................